วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ที่ประชุม ครม.อภิสิทธิ์ อนุมัติเจรจากู้เงิน สำรองวิกฤต 2.7 แสนล้านบาท

ที่ประชุม ครม.อนุมัติเจรจากู้เงินจากสถาบันการเงิน และองค์กรระหว่างประเทศ 2.7 แสนล้านบาท ตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง “กรณ์” อ้าง จำเป็นรองรับวิกฤต ค้ำดุลเศรษฐกิจประเทศ “บินไทย” จ่อกู้รายแรก ช่วย รสก.เน่า

วันนี้ (3 ก.พ.) นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เจรจากู้เงินจากสถาบันการเงินและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แหล่ง คือธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า วงเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 2.38-3.70% ต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะนำเงินกู้จากสถาบันการเงินและองค์กรต่างประเทศจำนวน 70,000 ล้านบาท มาใช้ใน 4 โครงการ คือ เพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินของรัฐเพื่อนำไปขยายสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล , ลงทุนในโครงการภาครัฐทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างการจ้างงานในระยะสั้นไม่เกิน 15 เดือน (มี.ค.52-พ.ค.53), ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ มีเวลาดำเนินการไม่เกิน 36 เดือน (มี.ค. 52-ก.พ.55) และสนับสนุนโครงการ แผนงานและกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล

“เรามีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนเพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะ ณ เวลานี้ รัฐบาลมีความจำเป็นใช้งบขาดดุล เพื่อนำเงินมาค้ำดุลเศรษฐกิจ” รมว.คลัง กล่าว

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เจรจาจัดหาเงินกู้ในลักษณะช็อตเทิร์ม ฟาซิลิตี้ (Short term facility) อีกไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี โดยมีแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐสามารถกู้เงินในประเทศระยะสั้น ได้โดยตรง ซึ่งหนึ่งในนั้น น่าจะมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีการสรุปผลรายละเอียดมายังตน

ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ และยังเป็นเครื่องมือในการจัดสรรการกู้เงินของภาครัฐไม่ให้เกิดภาวะกระจุก ตัวในช่วงใดช่วงหนึ่งด้วย ถือเป็นวงเงินสำรองกู้เงินและให้รัฐวิสาหกิจมีทางเลือกในการกู้เงิน โดยกระทรวงการคลังจะค้ำประกันวงเงินแบบเต็มจำนวนหรือแบบบางส่วน เพื่อลดสัดส่วนของการค้ำประกัน เพื่อให้ภาระการค้ำประกันอยู่ในกรอบเพดานในแต่ละปี ที่กำหนดไว้เป็นสกุลเงินบาทไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีอายุเงินกู้ระยะไม่เกิน 18 เดือน

นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมเพิ่มทุนให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) โดยวงเงินเพิ่มทุนดังกล่าวกระทรวงการคลังจะดึงมาจากเงินกู้ที่จะขอกู้จาก ธนาคารโลก ADB และ JICA

ทั้งนี้ การใช้เงินจากแหล่งเงินกู้นั้น จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในปี 2553 ที่จะเป็นงบขาดดุล ดังนั้น หนี้สาธารณะจำเป็นที่จะต้องปรับสูงขึ้น และปี 2553 ก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้น และเชื่อว่า จะเป็นหนี้ที่สามารถแบกรับได้ด้วยรายได้ของประเทศ และสามารถชำระได้ เมื่อเศรษฐกิจดีรายได้ประเทศก็จะมาจากภาษีที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีโครงการใดที่มีประโยชน์ ซึ่งบางโครงการจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000012602