วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ครม.ไฟเขียวคลังกู้ 2.7 แสนล้าน กรณ์ หวังอุ้ม รสก. สบน.ชี้สิ้นปีหนี้สาธารณะทะลุ3.9ล้านล้าน

ครม.มีมติอนุมัติคลังกู้2.7แสนล้าน ให้รสก.-สถาบันการเงินรัฐกู้ในประเทศระยะสั้นป้องกันความเสี่ยงจากตลาดเงิน "กรณ์"รับกู้ตปท.เหตุกลัววิกฤตลาม สบน.ชี้สิ้นปีหนี้สาธารณะทะลุ3.9ล้านล้าน แต่ถ้าศก.ไม่โตอาจพุ่งสูงกว่านั้น ที่ปรึกษารองนายกฯเผยสมทบ หัวละ 5พันบาท สกัดเลิกจ้างยังไม่ได้ข้อสรุป
"กรณ์"อ้างผลดีครม.อนุมัติกู้2แสนล้าน
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง ในการจัดตั้งเงินกู้ Short term facility วงเงินไม่เกิน 2 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐวิสาหกิจ(รสก.) และสถาบันการเงินภาครัฐสามารถกู้เงินในประเทศระยะสั้นได้โดยตรง เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ รองรับการหมุนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่แล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นหนี้ใหม่ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะค้ำประกันวงเงินแบบเต็มจำนวนหรือแบบบางส่วนเพื่อลดสัดส่วนการค้ำประกันและทำให้อยู่ในกรอบเพดานแต่ละปี

“ตลาดเงินขณะนี้ค่อนข้างจะผันผวนจนอาจกระทบต่อสถานะการเงินและต้นทุนทางการเงินของรัฐวิสาหกิจได้ การมีวงเงินกู้นี้ไว้จะทำให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงของสภาวะตลาดเงินที่เกิดขึ้น โดยเมื่อมีความต้องการใช้ก็สามารถเดินเข้ามาขอเงินกู้ผ่านกระทรวงการคลังซึ่งจะพิจารณาให้ได้ทันที โดยจะอยู่ในรูป Bridge Finance ที่จะเป็นเงินกู้ที่ให้ในระยะสั้นระหว่างการรอเงินกู้ระยะยาวที่จำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการขอเงินกู้ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจ” นายกรณ์ กล่าว

รับกู้ตปท.เหตุกลัววิกฤตศก.ลาม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน 70,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะขอกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารโลก 500 ล้านเหรียญ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) 1,000 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ วงเงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นวงเงินที่นำไปใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงินรัฐ ด้วยการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้สามารถมีเม็ดเงินเพียงพอที่จะปล่อยกู้ หรือค้ำประกัน ให้กับผู้ประกอบการที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“เม็ดเงินส่วนนี้ยังเป็นเพียงการอนุมัติในกรอบ เพราะต้องรอให้เรื่องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาก่อน และระหว่างนี้กระทรวงการคลังได้เตรียมกรอบการใช้เม็ดเงินดังกล่าว โดยจะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน” นายกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องกู้เงินต่างประเทศอีก 70,000 ล้านบาท เนื่องจากกังวลว่าปัญหาเศรษฐกิจจะลุกลามใช่หรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความกลัว โดยเงินดังกล่าวจะสำรองไว้ใช้ในช่วงรอยต่อของการใช้งบกลางปีแสนล้านบาทและงบประมาณปี 2553

เผยทำให้ภาระหนี้ของปท.เพิ่มขึ้น

ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการออกมาระบุว่าการที่รัฐบาลอนุมัติวงเงินกู้ 270,000 ล้านบาท จะทำให้ภาระหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น และไม่มีประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจ นายกรณ์ กล่าวยอมรับว่า การกู้เงินครั้งนี้ทำให้ภาระหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการก่อหนี้สาธารณะตามกรอบงบประมาณประจำปี 2552 สามารถทำได้ถึง 440,000 ล้านบาท ขณะนี้รัฐบาลใช้ไป 350,000 ล้านบาท แสดงว่าหนี้สาธารณะยังไม่เต็มเพดาน คือเหลืออีก 90,000 ล้านบาท ส่วนการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาลตามกรอบงบประมาณประจำปี 2552 สามารถทำได้ถึง 20% ของวงเงินรายจ่ายงบประมาณประจำปี โดยขณะนี้ใช้ไปแล้วประมาณ 16-17% รัฐบาลยังสามารถค้ำประกันได้อีก 4% คิดเป็น 15,000 ล้านบาท ขณะที่การกู้เงินจากต่างประเทศ กรอบงบประมาณประจำปี 2552 กำหนดไว้ว่าสามารถทำได้ 10% ของงบรายจ่ายประจำปี คิดเป็น 180,000 ล้านบาท ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 30,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเม็ดเงินกู้ต่างประเทศที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้จำนวน 70,000 ล้านบาท เท่ากับว่ารัฐใช้ไปแล้ว 1 แสนล้านบาท จึงมีเม็ดเงินเหลือที่จะดำเนินการได้อีกประมาณ 80,000 ล้านบาท

“ปี 2553 มีแนวโน้มเป็นงบประมาณขาดดุล ซึ่งหนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มเป็น 41-42% ต่อจีดีพี และหลังปี 2553 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้ประชาชนมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็จะทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้นด้วย” นายกรณ์ กล่าว

ปัดมีปัญหาความมั่นคงทางการเงิน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าต้องแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรก 70,000 ล้านบาท เป็นการเตรียมแหล่งเงินทุนไว้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งต้องมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องความมั่นคงหรือเสถียรภาพทางการเงิน เพราะทุนสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่รัฐบาลไม่ประมาท เพราะอนาคตจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้อาจหามาไม่ทัน เพราะต้องมีการเสนอเข้าสู่สภาถึง 2 รอบ รอบแรกคือให้อนุมัติกรอบ รอบสองคือต้องให้อนุมติก่อนลงนามในสัญญาการกู้เงิน ขณะที่ก้อนที่สอง 200,000 ล้านบาท เป็นเรื่องทางเทคนิค เพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่หนี้เก่ากำลังจะหมด และต้องไปกู้เงินต่อ แต่เงื่อนไขที่จะไปกู้ต่อเป็นเงื่อนไขที่ไม่ดี เนื่องจากตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนมาก อยากจะรอตลาด ก็จำเป็นต้องมีเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อส่งต่อไป การเปิดเงินตรงนี้เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้ของรัฐวิสาหกิจมีต้นทุนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถกู้เงินได้

ส่วนมาตรการประชานิยมของรัฐบาลที่กำลังถูกวิจารณ์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้น ที่จำเป็นใช้ในการรักษากำลังซื้อ ซึ่งจากที่ไปประชุมมาก็พบว่าทุกประเทศก็พยายามรักษากำลังซื้อให้มากที่สุด แต่มาตรการที่จะตามออกมาเป็นชุดที่สองและสาม จะต้องเข้าสู่แนวทางอื่น

ปฎิเสธใช้ทุนสำรอง-โบ้ยคลัง-ธปท.คิด

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่เงินเฟ้อเดินล่าสุดติดลบจะเป็นปัญหาต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลก็ต้องดูไม่ให้เกิดปัญหาเงินฝืด แต่ส่วนตัวเห็นว่าตัวเลขที่เห็นว่าเงินเฟ้อลดลงอาจเพราะนำไปเปรียบเทียบกับช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูงมาก

สำหรับเรื่องที่ รัฐบาลถูกโจมตีไม่ส่งเสริมการออม นายกฯกล่าวว่า ระยะแรกต้องรักษาระดับการใช้จ่ายก่อน ไม่เช่นนั้นรายได้ทุกคนจะลดลง ส่วนการออมเป็นระยะต่อไป เมื่อถามว่าที่ผ่านมารัฐบาล ไม่เคยบริหารงานมากขนาดนี้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อน นายอภิสิทธิ์ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “คงไม่มีใครเคยมีประสบการณ์บริหารเงินมากขนาดนี้เพราะจำนวนเงินจะมากขึ้นเรื่อยๆ”

นายกฯกล่าวกรณี ภาคธุรกิจเอกชนเสนอให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจว่า ขณะนี้กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำอย่างนั้น และเรื่องนี้อาจทำให้เกิดความสับสนและขัดแย้งตามมา แต่สิ่งหนึ่งที่เคยพูดไปคือหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพํมนาระบบสถาบันการเงิน ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะมีวิธีการบริหารที่เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ แทนที่จะใช้เงิน 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปีในการชำระคืนดอกเบี้ย แต่เข้าใจว่า เรื่องนี้ธปท.และกระทรวงการคลังคงคิดกันมาหลายรอบ

นายอภิสิทธิ์ ยังยอมรับว่ามาตรการ 99 วันที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยประกาศไว้มีบางส่วนทำไม่ได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีขึ้นมาก่อน และให้เวลาทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่ส่วนใหญ่ได้ทำไปแล้ว เช่น เรียนฟรี เบี้ยยังชีพ และเงินอสม.

สบน.ชี้สิ้นปีหนี้สาธารณะทะลุ3.9ล้านล้าน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.ประเมินไว้เบื้องต้นคาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% และ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 หนี้สาธารณะจะเพิ่มจาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 3.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41-42% ของจีดีพี แต่ในกรณีที่เศรษฐกิจไม่โต และอัตราเงินเฟ้อติดลบ จะทำให้หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 43-44% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ สบน. กำลังรอการตัดสินใจของนายกรณ์ที่จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายหนี้ ว่าจะต้องปรับเพิ่มแผนการก่อหนี้ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.2 ล้านล้านบาทหรือไม่

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ส่วนวงเงินกู้ 200,000 ล้านบาท สบน.จะคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 0-0.5% ของวงเงินกู้ เพื่อทำให้รัฐวิสาหกิจมีวินัยในการดำเนินการทางการเงินให้มากขึ้น และกำหนดระยะเวลาคืนเงินกู้ 18 เดือน เพื่อให้เวลารัฐวิสาหกิจสามารถหาเม็ดเงินมาคืนได้ทัน เบื้องต้นคาดว่าหน่วยงานที่จะเข้ามาขอใช้วงเงินกู้ระยะสั้นดังกล่าวน่าจะเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยในโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร 1.1 แสนล้านบาท ถึง 4.95% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

ประเมินรายได้ปี53Ž1.521ล้านล้าน

นายบัณฑูร สุภัควนิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ไม่มีการหารือหรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเงินคงคลังที่เหลืออยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนกรณีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลนำเงิน 2,000 บาทแจกประชาชนจะขัดรัฐธรรมนูญว่า ยืนยันว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการตั้งงบประมาณส่วนนี้เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งมีการระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ชัดเจน และที่สำคัญเป็นการดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ สำหรับประมาณการรายได้ของรัฐบาลปี 2553 สำนักงบประมาณได้ประมาณที่ 1.521 ล้านล้านบาท หลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ถือเป็นตัวเลขที่เป็นทางการ ต้องผ่านการพิจารณาร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงบประมาณ

ยังต้องถกต่อเรื่องสมทบสกัดเลิกจ้าง

นายกนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องการฝึกอบรมแรงงาน ของคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะขยายกลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมไปยังกลุ่มแรงงานในภาคธุรกิจเอกชน โดยภาครัฐจะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าแรงงานให้ผู้ประกอบการ เพื่อแลกกับการไม่ปลดคนงานออกว่า มาจากข้อเสนอของผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการลงนามแต่งตั้งให้ตนเป็นคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลเรื่องการฝึกอบรม และหลังจากนั้นภายใน 1-2 วันจะเรียกประชุมโดยจะเชิญตัวแทนภาคเอกชน เช่น หอการค้าไทย ร่วมด้วย

นายกนก กล่าวว่า โครงการนี้ได้กำหนดเกณฑ์เบื้องต้นคือผู้เข้ารับการอบรมจะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงอัตราเฉลี่ยรายละ 4,800 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของอาชีพ หากเป็นอาชีพยากจะได้สูงกว่า แต่หากเป็นอาชีพที่ง่ายจะได้น้อยกว่า 4,800 บาท กำหนดจ่ายให้ในช่วงเวลาระหว่างฝึกอบรม 1 เดือน และอีก 3 เดือนในช่วงระหว่างรองาน นอกจากนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินให้หน่วยงานที่เข้ามาช่วยฝึกอบรมในอัตราหัวละประมาณ 5,000 บาทเป็นค่าใช้จ่ายและค่าวัสดุอุปกรณ์การฝึกอบรม

“โครงการนี้ได้ข้อยุติว่าจะนำไปใช้ในส่วนของการฝึกอบรมกลุ่มผู้ว่างงานที่แสดงความจำนงจะกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนา กับกลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่ ส่วนของการฝึกอบรมแรงงานภาคธุรกิจ คณะอนุฯจะต้องหารือกันก่อน" นายกนกระบุ

ของบเพิ่มรองรับขยายเป้าหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกอร์ปศักดิ์ระบุว่าจะให้สถานประกอบการเดิมทำหน้าที่ฝึกอบรม หากยึดตามเกณฑ์จ่ายเงินดังกล่าว เท่ากับรัฐบาลจ่ายสองต่อให้ผู้ประกอบการ ทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าฝึกอบรม นายกนก กล่าวว่า คงต้องหารือกันก่อน เบื้องต้นหากจะมีการฝึกอบรมในสถานประกอบการเดิม รัฐบาลอาจขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขอไม่จ่ายเงินในส่วนค่าใช้จ่าย

นายกนก กล่าวถึงงบประมาณจำนวน 6.9 พันล้านบาท ที่ได้รับมาจากงบเพิ่มเติมกลางปี 2552 เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานโครงการฝึกอบรมนี้ว่า คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน เพราะสามารถรองรับการฝึกอบรมผู้ว่างงานได้เพียง 240,000 คน จากที่ตั้งเป้าหมาย 500,000 คน ดังนั้น คงจะต้องเสนอของบประมาณประจำปี 2553 มาใช้สำหรับการฝึกอบรมแรงงานที่เหลือให้ครบเป้าหมายต่อไป

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวถึงแนวคิดการจ่ายเงินสมทบเงินเดือนของลูกจ้างให้ผู้ประกอบการรายละ 5,000 บาทว่า อาจจะเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มสินค้าอิเลคทรอนิกส์ประสบปัญหาของล้นสต็อกเพราะคนอเมริกันไม่มีกำลังซื้อ และอาจต้องปลดพนักงาน หากรัฐบาลสามารถแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการในช่วง 3-4 เดือนนี้เพื่อรอให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นและหวังว่าธุรกิจจะเดินหน้าต่อได้ ก็ไม่จำเป็นปลดพนักงาน วิธีการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างเขื่อน ชะลอแรงงานตกงาน

แรงงานตั้งเป้าฝึกอบรมอุ้ม3กลุ่ม

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ใช้งบประมาณ 6.9 พันล้านบาท ฝึกอบรมให้กับผู้ว่างงาน ว่า ขณะนี้การอนุมัติโครงการและงบประมาณให้กับหน่วยงานใดยังไม่ชัด เพียงแต่รัฐบาลได้อนุมัติในหลักการและจำนวนเงิน และอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดโครงการของคณะกรรมการฯ แต่สิ่งที่กระทรวงเสนอคือ ขออนุมัติงบประมาณ 3.4 พันล้านบาท ดำเนินโครงการฝึกอบรมอาชีพซึ่งจะต้องทำเร่งด่วนให้กับ 3 กลุ่มประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ออกจากงานและผู้ที่ไม่เคยทำงานแต่จะเข้าสู่ตำแหน่งงานใหม่ 2.กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ กลุ่มที่เปลี่ยนงาน และ 3.กลุ่มชะลอการเลิกจ้างซึ่งสถานประกอบการใช้สิทธิตามกฎหมายแรงงาน (มาตรา 75 ) ซึ่งมีตัวเลขรวมประมาณ 400,000 คน จึงตั้งเป้าฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 400,000 คน ระยะเวลาที่ฝึกอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ( กทม.วันละ 209 บาท) เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า หลักสูตรที่ฝึกอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้น 7-10 วัน เชื่อมั่นว่าหากฝึกเสร็จแล้ว ทุกคนได้มีงานทำแน่นอน เนื่องจากกระทรวงแรงงานมีข้อมูลความต้องการของนายจ้าง ตัวเลขคนตกงาน ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมหลักสูตรฝึกอบรม เช่น ช่างฟิต ช่างซ่อม ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่อง การบริการท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีศูนย์ฝึกอบรมฝีมืออาชีพทั่วประเทศ

ชี้เรื่องสมทบ5พันเพื่อสกัดเลิกจ้างยาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นโครงการเดียวกับที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี จะนำเงิน 6.9 พันล้านบาท มาฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้สนใจจำนวน 500,000 คน โดยจะให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และกลุ่มเครือข่ายประชาสังคม เป็นสถานที่ฝึกอบรมหรือไม่ นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงานเสนอไปแค่ 3.4 พันล้านบาท อาจจะมีการตัดหรือเพิ่มจำนวนเงินก็ได้
อย่างไรก็ตามหากจะมีการแยกส่วนก็ไม่แปลก เพราะการแก้ไขปัญหาคนว่างงานต้องเป็นวาระแห่งชาติ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วย แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะมีการฝึกอมรมซ้ำคนกัน เนื่องจากทุกหน่วยมีการลงทะเบียนผู้ฝึกงาน สามารถตรวจสอบได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ในส่วนการจ่ายเงินค่าจ้างสมทบให้กับนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการ คนละ 5,000 บาท นั้น กระทรวงแรงงานไม่มีแนวทางที่จะทำเรื่องดังกล่าว และคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่จะช่วยเหลือให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างและผู้ที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง โดยการฝึกทักษะอาชีพพร้อมกับให้เบี้ยเลี้ยงในการฝึกอาชีพเท่านั้น ในส่วนของสถานประกอบการให้ธนาคารเอสเอ็มอี (SME) นำเงิน 6,000 ล้านบาท ไปปล่อยกู้แล้ว

สภาองค์กรฯไม่เห็นด้วยสมทบ5พัน

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฝึกอบรมกับผู้ที่ว่างงานเป็นสิ่งที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นสาขาที่สามารถสร้างรายได้และให้ความรู้ให้กับประชาชนได้จริง ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้ตกเป็นประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหากจะมีการวัดประสิทธิภาพที่ออกมาจากการอบรมนั้นคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะมีระยะเวลาในการฝึกอบรมสั้น สำหรับเกณฑ์ในการเลือกสถานประกอบการที่จะเข้ารับการฝึกอบรมควรจะเป็นสถานประกอบการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง เพราะจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับ 2 ฝ่าย คือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงาน พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการให้กับสถานประกอบการอีกด้วย

นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิต ประธานสภาองค์กรแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ต้องอธิบายรายละเอียดของโครงการให้ชัดเจนและสรุปได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ไม่มีอะไรรับประกันว่าผู้ว่างงานจะมีงานทำถาวร หรือสถานประกอบการจะไม่เลิกจ้างอีก ส่วนการที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนสมทบ 5,000 บาทนั้น เห็นว่าไม่สมควร ถือว่าเป็นการเยียวยาได้เพียงชั่วครู่

ที่มา: มติชน 2009-02-04