วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มาตรการเศรษฐกิจโอบามา : กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น...ระยะยาวยังไม่ชัดเจน

แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะได้เร่งผลักดันหลากหลายมาตรการ เพื่อเข้าจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่แนวโน้มการถดถอยลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า จะยืดเยื้อต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/2552 เป็นอย่างน้อยนั้น ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ตลาดการเงินต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ การประกาศผลขาดทุนในรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2551 ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ หลายแห่งนั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาคการเงินสหรัฐฯ ยังคงตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบาง และมีความเป็นไปได้สูงว่า ระลอกของข่าวร้ายในภาคการเงินสหรัฐฯ อาจถูกเปิดเผยออกมาสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาคการเงินสหรัฐฯ อาจเริ่มพบกับสัญญาณเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนฟื้นฟูภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ที่อาจถูกทยอยประกาศออกมาภายหลังจากการเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 ของนายบารัค โอบามา ในวันที่ 20 มกราคม 2552 นี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ในระยะถัดไปไว้ดังนี้:-

- การผสานหลากหลายมาตรการเพื่อสู้วิกฤต
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ซึ่งหมายความรวมถึง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเร่งผลักดันมาตรการการเงิน-การคลัง และแผนการเฉพาะกิจ เพื่อเข้าจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้ ซึ่งถูกประเมินว่ามีความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยืดเยื้อในภาคการเงิน และแนวโน้มถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ทางการสหรัฐฯ ยังคงต้องผลักดันมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคการเงินอย่างต่อเนื่องต่อไป

- นโยบายการคลังสหรัฐฯ...เร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่ของทำเนียบขาววงเงิน 8.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวถูกคาดหมายว่า จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มเติมได้ถึง 3-4 ล้านตำแหน่ง โดยในเบื้องต้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกภายใต้สมัยที่นายบารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกคาดหมายว่า จะถูกผลักดันออกมาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นั้น อาจประกอบไปด้วย มาตรการลดหย่อนภาษี มูลค่า 2.75 แสนล้านดอลลาร์ฯ และการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 5.50 แสนล้านดอลลาร์ฯ .

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ วงเงิน 8.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 5.8 ของ GDP สหรัฐฯ ซึ่งเป็นวงเงินที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกเปิดเผยออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีมูลค่าประมาณ 6.75-7.75 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทีมบริหารของทำเนียบขาวภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายบารัค โอบามา อาจต้องเผชิญกับความคาดหวังที่สูงท่ามกลางความจำเป็นเร่งด่วนในการกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ควรจะถูกเร่งผลักดันออกมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งยังเป็นผู้ครองอำนาจในทำเนียบขาวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังชะลอตัว/ถดถอยลง อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากลำบากในการจัดเก็บรายได้เพื่อมาสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงื่อนไขของวินัยทางการคลังอาจเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ทีมบริหารทำเนียบขาวชุดใหม่หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายบารัค โอบามา แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจมีความจำเป็นต้องเลือกที่จะใช้มาตรการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีผลกระทบที่เลวร้ายมากกว่า ก็ตาม

- แผนช่วยเหลือภาคการเงินสหรัฐฯ...พร้อมถูกจัดสรรเพื่อฟื้นฟูตลาดสินเชื่อ
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 52 ต่อ 42 อนุมัติการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นงบช่วยเหลือภาคการเงินส่วนที่ 2 ของมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ การที่นายบารัค โอบามา และคณะที่ปรึกษา สามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการใช้วงเงินที่เหลืออยู่จำนวน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ได้นั้น นอกจากจะเป็นการแสดงจุดยืนที่หนักแน่นในการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมานานในภาคการเงินสหรัฐฯ แล้ว ยังนับได้ว่าเป็นการดำเนินการที่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกด้วย

สำหรับแนวทางการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนที่ 2 เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินสหรัฐฯ นั้น นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ซึ่งจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติประจำทำเนียบขาวได้ออกมากล่าวว่า การจัดสรรเม็ดเงินดังกล่าวจะเน้นไปที่โครงการช่วยเหลือเจ้าของบ้านที่กำลังเผชิญกับการยึดทรัพย์จำนอง ตลอดจนโครงการที่กระตุ้นการไหลเวียนของสินเชื่อสู่ภาคเอกชน โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อการบริโภค สินเชื่อเพื่อธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และเงินช่วยเหลือหน่วยงานเทศบาล โดยจะมีการติดตามแนวทางการใช้เงินของสถาบันการเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของโครงการนี้ หลังจากที่เงินส่วนใหญ่จากงบช่วยเหลือภาคการเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนแรก ถูกนำไปใช้ในการลงทุนโดยตรงในสถาบันการเงินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับระดับเงินทุนของสถาบันการเงินเหล่านั้น และส่วนหนึ่งถูกจัดสรรเพื่อช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมแนวทางการใช้เงินทุนจากวงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนที่ 2 ของมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่อาจจะถูกผลักดันออกมาในระยะถัดไป ดังนี้ :-


* มาตรการแก้ไขวิกฤตการณ์ยึดบ้านติดจำนอง ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจสามารถช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ในระยะถัดไป

* โครงการเพิ่มการไหลเวียนสินเชื่อไปสู่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการกู้ยืมให้กับภาคเอกชน ซึ่งต้องเผชิญกับเงื่อนไขที่รัดกุมในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในยามที่สถานการณ์ตลาดสินเชื่อหลายประเภทยังคงไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

* มาตรการแก้ปัญหางบดุลที่อ่อนแอของสถาบันการเงิน ด้วยการจัดสรรวงเงินในการจัดตั้ง “Aggregator Bank” หรือ “Bad Bank” เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพหรือขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะตราสารทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ออกจากงบดุลบัญชีของภาคธนาคาร ทั้งนี้ หนี้จำนองด้อยคุณภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้งบดุลของสถาบันการเงินสหรัฐฯ มีความเปราะบาง และทำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางด้านเงินกองทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่ง “Aggregator Bank” ที่อาจถูกจัดตั้งขึ้นนั้น จะมีลักษณะเหมือนกับบรรษัท RTC (The Resolution Trust Corporations) ที่มีบทบาทในการจัดการกับหนี้เสียมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ ของสถาบันเงินฝากและปล่อยกู้ (Savings and Loans : S&Ls) ในวิกฤต S&Ls ช่วงปีค.ศ. 1985-1995 นอกจากนี้ ปัญหางบดุลที่อ่อนแอของสถาบันการเงิน อาจถูกแก้ไขด้วยมาตรการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานะเงินกองทุน และจัดสรรวงเงินเพื่อค้ำประกันความสูญเสียที่เกิดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับมาตรการช่วยเหลือซิตี้กรุ๊ป และแบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป (ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนแรก)

* การจัดสรรวงเงินเพื่อชดเชยการขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการของเฟด ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อบางประเภท (ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนแรก) เนื่องจากคาดว่า เฟดอาจจะพิจารณามาตรการด้านสภาพคล่องอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติมอีกในระยะถัดไป

- นโยบายการเงินสหรัฐฯ...ผ่อนคลายต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรง ขณะที่ สถานการณ์ในตลาดสินเชื่อหลายประเภทยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกตินั้น เฟดอาจจะยังคงใช้มาตรการด้านสภาพคล่องที่มีอยู่เดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมๆ กับพิจารณามาตรการทางเลือกอื่นเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องและเพื่อแก้ไขการหยุดชะงักของกลไกการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าเฟดได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงสู่กรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.00-0.25 ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2551 ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่า ภารกิจนโยบายการเงินของเฟดในส่วนของเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น สิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

* เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินของสหรัฐฯ เฟดได้ดำเนินการในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยใช้มาตรการแบบพิเศษในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อหลายประเภท อาทิ มาตรการเข้าซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับภาคเอกชน และมาตรการซื้อตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายหรือที่ค้ำประกันโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ มาตรการเฉพาะกิจของเฟดหลายมาตรการมีกำหนดจะหมดอายุลงในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2552 นี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เฟดระดับสูงหลายท่านซึ่งหมายความรวมถึง ประธานเฟด นายเบน เบอร์นันเก้ กล่าวว่า มาตรการเฉพาะกิจที่ใช้แก้ไขภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัวหลายมาตรการอาจได้รับการต่ออายุออกไปจนกว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นอีก

* และหากประเมินภาพในระยะถัดไป มีความเป็นไปได้สูงมากว่า เฟดอาจจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมในการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อช่วยกดดันให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงร่วงลง ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสำหรับภาคเอกชนลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ เฟดยังอาจพิจารณาแนวทางอื่นๆ ในการใช้งบดุลของเฟดเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินและสนับสนุนเศรษฐกิจ พร้อมๆ การยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

** ประเมินภาพระยะถัดไป และสรุป
นับได้ว่า มาตรการเข้ารับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของทางการสหรัฐฯ มีความหลากหลาย และถูกผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินภายใต้อำนาจการดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นโยบายการคลังภายใต้อำนาจการดำเนินการของทีมบริหารของทำเนียบขาวและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตลอดจนมาตรการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาในภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ทั้งนี้ การดำเนินการของทางการสหรัฐฯ ดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างจริงจังของทางการสหรัฐฯ ในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายโดยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยสถานการณ์ที่เรื้อรังของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินสหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ต้นทุนของการแก้ไข/รับมือกับวิกฤตในรอบนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ มาตรการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของทางการสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาสามารถทำได้เพียงแค่เยียวยาผลกระทบและบรรเทาปัญหาไม่ให้รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาคการเงินสหรัฐฯ อาจเริ่มพบกับสัญญาณเชิงบวกจากการคาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 8.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ นั้น อาจถูกผลักดันออกมาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ขณะที่ ความคืบหน้าของการอนุมัติแผนกอบกู้ภาคการเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนที่ 2 ของทางการสหรัฐฯ ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี และสะท้อนให้เห็นว่า ทีมเศรษฐกิจของนายโอบามา ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะเข้าจัดการกับวิกฤตหลังการเข้ารับตำแหน่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความหวังต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการกอบกู้ภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ได้ส่งผลทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินดีขึ้น (เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น) ในช่วงก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งนั่นก็แปลว่า ข่าวดีดังกล่าวได้ถูกรับรู้ไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่จะเป็นปัจจัยบวกที่เพียงพอที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดเงิน-ตลาดทุนฟื้นกลับคืนมาอย่างยั่งยืนหรือไม่นั้น จะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เนื่องจากการลากยาวของปัญหาในภาคการเงินเป็นเวลานานกว่า 1 ปีนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคเศรษฐกิจจริงรุนแรงกว่าที่คาด และอาจทำให้ขนาดของมาตรการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งนั่นก็เปรียบเสมือนว่า ข่าวร้ายอาจจะยังคงไม่จบสิ้นลงในระยะเวลาข้ามคืน และโจทย์หนักในการรับมือกับวิกฤตการเงินและมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ รอบนี้ยังคงไม่จบสิ้นลงในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการสร้างเสถียรภาพให้กับภาคการเงินของเฟดและทางการสหรัฐฯ อาจสะท้อนออกมาผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจ อาทิ สัญญาณการชะลอการปลดคนงาน/การเริ่มจ้างงาน การปรับตัวลงของสต็อกบ้านคงค้างและเสถียรภาพของราคาบ้าน การเริ่มฟื้นคืนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคสหรัฐฯ รวมทั้งภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืดที่เบาบางลง ตลอดจนการปรับตัวของตลาดการเงิน อาทิ การหดแคบลงของส่วนต่างที่สะท้อนความเสี่ยงที่ภาคเอกชนต้องแบกรับ การเริ่มปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการกลับมาทำงานอย่างเป็นปกติของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ซึ่งก็จะทำให้มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกิจจากทางการมีความจำเป็นน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของมาตรการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินสหรัฐฯ ที่เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ นั้น เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า ขนาดของความสูญเสียของภาคการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงนั้น ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ ทางการสหรัฐฯ อาจจะยังคงจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกในระยะถัดไปหากตัวเลขการว่างงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้ทางการสหรัฐฯ จำต้องแบกรับระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 80 ต่อ GDP ในปี 2552 (จากปัจจุบันที่ร้อยละ 74 ต่อ GDP) และอาจจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังกล่าว อาจจะกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความผันผวนต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และการปรับตัวของอัตราผลตอบแทบของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ในที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดการเงินคงจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า สหรัฐฯ จะเผชิญปัญหาทางการคลังก่อนหรือหลังการเยียวยาวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้จะเสร็จสิ้นลง โดยหากความพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลในเวลาที่ไม่นานนักจากนี้ (ไม่เกิน 1 ปี) ภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์แต่ก็คงจะอยู่ในระดับที่พอรับได้ และไม่น่าที่จะส่งผลกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ มากนัก อย่างไรก็ตาม หากปัญหาเศรษฐกิจดื้อยาและลากยาวจนทางการสหรัฐฯ จำต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มอีกหลายระลอกแล้ว ภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยอาจเข้าหาระดับร้อยละ 100 ต่อ GDP ในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จนสร้างความกังวลต่อนักลงทุน โดยเฉพาะต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ย่อมจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกตามมาอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

Reference : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจก.

http://www.positioningmag.com/prnews/prnews.aspx?id=76725

โอบามา ลงนามรับรองแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์

โอบามา ลงนามรับรองแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์
เป็นกฏหมาย มั่นใจกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและสร้างงานได้ตามเป้า
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ ได้ลงนามรับรองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์เป็นกฏหมายพร้อมประกาศจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปีของสหรัฐ
"เราได้เริ่มต้นทำภาระกิจสำคัญในการคงความฝันของชาวอเมริกันให้ดำเนินต่อไป"ประธานาธิบดีโอบามา กล่าว ก่อนจะลงนามรับรองแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล เพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมายต่อไป ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด

ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ ประกาศเตือนมาตลาดว่าเศรษฐกิจของประเทศอาจถึงแก่หายนะหากไม่เร่งดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างรวดเร็ว กล่าวว่า "ผมไม่ต้องการเสแสร้งทำเป็นว่าวันนี้เป็นวันปิดฉากปัญหาทางเศรษฐกิจของเรา หรือเสแสร้งพูดว่ากฏหมายฉบับนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นขึ้นมาทันตาเห็น แต่การลงนามรับรองกฎหมายฉบับนี้ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้เกิดการสร้างงานเพื่อความอเมริกันที่กำลังดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาการถูกเลิกจ้าง เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อผ่อนคลายความกังวลในครอบครัวที่คิดว่าพวกเขาไม่มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายด้านต่างๆในครัวเรือนในเดือนหน้า เป็นจุดเริ่มต้นของก้าวย่างแรกในการกำหนดรากฐานทางเศรษฐกิจของเราให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อปูทางไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งในระยะยาว"

กฏหมายใหม่ฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างหรือรักษาตำแหน่งงาน 3.5 ล้านคนในประเทศให้ได้ ในจำนวนนี้ รวมถึง"ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม"ด้วย ขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับอัตราว่างงานเดือนม.ค. ที่ทะยานสูงที่สุดในรอบ 16 ปีโดยสูงถึง 7.6% ซึ่งที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโอบามา เตือนว่า อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักถ้าสภาคองเกรสไม่ผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้

ทั้งนี้ หนึ่งในสามของเงินทุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะนำไปใช้จ่ายด้านการลดหย่อนภาษี รวมทั้งสิ้น 286,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก

ปฐมบท การปฏิรูปใหญ่ ครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2545 )

การปฏิรูประบบราชการในประวัติศาสตร์ไทย มีการปฏิรูประบบราชการครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อสร้างการบริหารของกรุงศรีอยุธยาให้มีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นฝ่ายทหาร (กลาโหม) และฝ่ายพลเรือน (จตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา)

อีก 400 ปีต่อมา ได้มีการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 2 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2435 เป็นความพยายามที่จะสร้างความทันสมัย โดยได้เปลี่ยนระบบจตุสดมภ์ มาเป็นกระทรวงหลักทั้งหมด 12 กระทรวงแบบตะวันตก สำหรับการปฏิรูประบบราชการครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปหลังจาก 100 ปี ล่วงมาแล้ว
ทำไมจึงต้องปฏิรูประบบราชการ

ปัจจุบันโครงสร้างของหน่วยราชการหลายแห่งมีบทบาทภารกิจที่ซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย ขาดเอกภาพ และสิ้นเปลือง ส่งผลกระทบต่อการบริหารบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศ ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่กลไกภาครัฐโดยรวมยังคงล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานตามนโยบายแห่งรัฐ และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข็มแข็งให้แก่ชุมชน อีกทั้งระบบราชการไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของประชาชนผู้รับบริการได้ทันท่วงที

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการยกระดับขีดความสามารถของราชการไทยให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและแก้ปัญหาการขาดประสิทธิภาพ ความซ้ำซ้อน การทุจริตประพฤติมิชอบ และขาดความโปร่งใส
รัฐบาลที่ผ่านมาต่างมีความพยายามที่จะปฏิรูประบบราชการแต่จังหวะและโอกาสที่จะกระทำมีความลำบาก เนื่องจากขาดสภาวะการนำ และทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยเท่ากับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ประชาชนให้การยอมรับให้มีเสียงข้างมาก จึงสมารถดำเนินการได้ตั้งแต่รัฐบาล และการปฏิรูปนี้ถือเป็น วาระแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นงานหลักของรัฐบาล โดยต้องอาศัยนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนทุกฝ่าย รัฐบาลดำเนินการในขั้นแรกด้วยการออกกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และขั้นต่อ ๆ ไป รัฐบาลจะปรับปรุงเรื่องระบบราชการการบริหารงานบุคคลวิธีการงบประมาณ และการกระจายอำนาจ
มีกระทรวงใหม่ที่เกิดขึ้นตามภารกิจอย่างไร

มีจำนวนกระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง ใช้ชื่อเดิม 11 กระทรวง มีกระทรวงที่ปรับภารกิจและเปลี่ยนชื่อกระทรวง 3 กระทรวง และจัดตั้งกระทรวงขึ้นใหม่ 6 กระทรวง มีกรมรวมทั้งหมด 127 กรมดังนี้

( ใช้ชื่อเดิม )
-สำนักนายกรัฐมนตรี
-กระทรวงกลาโหม
-กระทรวงการคลัง
-กระทรวงการต่างประเทศ
-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-กระทรวงคมนาคม
-กระทรวงพาณิชย์
-กระทรวงมหาดไทย
-กระทรวงยุติธรรม
-กระทรวงศึกษาธิการ
-กระทรวงสาธารณสุข

( ปรับภารกิจและเปลี่ยนชื่อ )
-กระทรวงแรงงานและพัฒนาอาชีพ
-กระทรงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ

( กระทรวงใหม่ )
-กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-กระทรวงพลังงาน
-กระทรวงวัฒนธรรม
-กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทำไม จึงต้องเพิ่มกระทรวง ทบวง กรม มากขึ้นกว่าเดิม
การจัดโครงสร้างกระทรวงใหม่ในครั้งนี้ จะมีกระทรวงเพิ่มขึ้น เพราะบางกระทรวงมีความจำเป็น และมีภารกิจที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และแม้ว่าจะเป็นกระทรวงเล็กแต่กลับมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ภารกิจบางอย่างมีความจำเป็นต้องได้รับการบริการและจัดการด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก โดยมีเหตุของการจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ดังนี้
- เนื่องจากมีภารกิจใหม่
- ตัดลดสายการบังคับบัญชาลง
- เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านงานบุคลากร
- เพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งข้าราชการระดับสูงหรือไม่

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีจะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รวมกันเป็น 36 คน ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีเกินจำนวนดังกล่าวได้ ในส่วนข้าราชการนั้นจะใช้วิธีการเกลี่ยตำแหน่ง

ข้าราชการจะได้รับผลกระทบต้องออกจากราชการหรือไม่
รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปลดหรือใช้ข้าราชการออกจากงานในยามเศรษฐกิจของประเทศยังไม่เฟื่องฟู หากปลดข้าราชการจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะการลดคนออกจากงานนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด จะกระทำได้ต่อเศรษฐกิจขงประเทศดีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสข้าราชการสามารถประกอบอาชีพอื่น ๆ ตามที่ตนต้องการ มีรายได้สูง และได้รับบำเหน็จบำนาญตามความเหมาะสม นอกจากนี้รัฐบาลไม่ต้องการใช้ข้าราชการออกจากงาน เพราะถือว่าข้าราชการเป็นผู้เสียสละมารับเงินเดือนน้อย จึงควรมีความมั่นคงในอาชีพ

รัฐบาลจะมีการเกลี่ยตำแหน่งข้าราชการ เพื่อจัดวางคนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ใหม่ (reassign) พัฒนาใหม่ (retrain) ฟื้นฟูใหม่ (rehabilitation) ผ่านศูนย์เปลี่ยนผ่าน และเมื่อมีข้าราชการใดเกษียณอายุราชการ ก็จะนำข้าราชการเหล่านั้นไปปฏิบัติงานแทน จะทำให้ข้าราชการลดน้อยไปเองโดยอัตโนมัติ

ประชาชนได้อะไรจากการปฏิรูปราชการ (ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากากการปฏิรูปราชการดังนี้)
- การให้บริการสาธารณะด้านต่างๆ ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นการบริการประชาชนจะดีขึ้น เร็วขึ้น ประหยัด ไม่มีสายการบังคับบัญชาที่สลับซับซ้อน
- ปรับปรุงบทบาทของภาครัฐจากผู้ปฏิบัติและควบคุมมาเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าที่จะเป็นการสั่งการจากราชการ
- ระบบราชการใหม่ จะเร่งพัฒนาคุณภาพของข้าราชการให้มีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการประชาชนและมีการบริหารงานที่มีความยืดหยุ่น โปร่งใส ตรวจสอบได้
- จะมีการปรับระบบการให้บริการประชาชนในส่วนภูมิภาคโดยมีการถ่ายโอนภารกิจ พร้อมทั้งมีหน่วยงานให้บริการตามความต้องการของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ โดยรวมหน่วยงานให้บริการไว้ในจุดเดียว (One Stop Service)

การปฏิรูประบบราชการใช้เวลาเท่าไรจึงจะเสร็จสิ้น
การปฏิรูประบบราชการ ให้ได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลได้ดำเนินการโดยแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้
ช่วงการเตรียมการ (ก่อน 1 ตุลาคม 2545) โดยมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนแปลง เตรียมการรองรับการถ่ายโอนบุคลากรและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน

ช่วงการริเริ่มปรับโครงสร้างและระบบการบริหารราชการ (1 ตุลาคม 2545 - 30 กันยายน 2547) จะมีการสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กระทรวง ทบวง กรม สร้างกลไก ให้มีผู้รับผิดชอบงานพัฒนา ถ่ายโอน และเตรียมความพร้อมกำลังคนรวมทั้งปฏิรูประบบงบประมาณ
ช่วงก้าวสู่ระบบราชการแนวใหม่ ( 1 ตุลาคม 2547 – 30 กันยายน 2551) ระบบราชการทั้งหมดจะก้าวสู่กระบวนการทำงานในระบบใหม่ มีการบริหารงานแนวใหม่ จากประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศการปฏิรูประบบราชการจะสำเร็จผลชัดเจนเป็นรูปธรรมได้นั้น จะต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง โดยต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะ ๆ ให้เหมาะสมกับความจำเป็น และที่สำคัญที่สุดก็คือ อยู่ที่ความร่วมมือของทุกฝ่าย

http://irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/General/Taksin%20rehab.htm


สรุปสาระสำคัญ พรบ.ข้าราชการพลเรือน 2551 หลังประกาศใช้
สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีหลักการสำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

(1) การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ
ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับ ส่วนราชการและจังหวัดรับไปดำเนินการเอง โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ส่วนราชการสามารถกำหนด จำนวนข้าราชการ ประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับของข้าราชการได้เอง โดยต้องคำนึงถึง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความไม่ซ้ำซ้อน และความประหยัด เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของการบริหารรัฐกิจ สมัยใหม่ (New Public Management) ที่เน้นหลักการให้ผู้บริหารมีอำนาจ ในการบริหารอย่างแท้จริง และผู้บริหารควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว ของภารกิจ ขององค์กร ทั้งนี้ ก.พ. จะกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เป็นกรอบกว้าง ๆ ไว้ให้ และจะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการ (Post Audit) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่วางไว้

(2) การปรับโครงสร้างระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน
การปรับโครงสร้างตำแหน่งของข้าราชการ หรือการยกเลิกระบบ “ซี” และจัดแบ่งประเภทตำแหน่ง เป็น 4 ประเภทให้สอดคล้องกับลักษณะงานในปัจจุบัน ได้แก่ ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภท อำนวยการ ตำแหน่งประเภทวิชาการ และตำแหน่งประเภททั่วไป ภายใต้แนวคิดที่จะทำให้ระบบจำแนกตำแหน่ง เป็นระบบ Multi Classification Scheme โดยแบ่งประเภทตำแหน่งออกเป็นหลายประเภท เพื่อแยกบัญชีเงินเดือนแต่ละประเภทออกจากกัน ทำให้เกิดความยืดหยุ่น ในการปรับอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับตลาดและการบริหารผลงาน การจ่ายค่าตอบแทนตามความรู้ความสามารถของข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งสะท้อนค่างานของตำแหน่งในแต่ละประเภทได้อย่างแท้จริง โดยสามารถเทียบเคียงตำแหน่งในปัจจุบันกับการเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ สำหรับการเลื่อนระดับตำแหน่งหรือการย้ายเปลี่ยนกลุ่มประเภทตำแหน่งจะต้องพิจารณาจากเกณฑ์ระดับความรู้/ทักษะ/ระดับสมรรถนะ/ประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งโดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

(3) สร้างความเป็นมืออาชีพ
กำหนดให้ทุกกระบวนการของการบริหารทรัพยากรบุคคล จะดำเนินการโดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถเป็นสำคัญ เพื่อให้ข้าราชการมีคุณภาพ คุณธรรม คุณภาพชีวิต มีขวัญและ กำลังใจในการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของภาครัฐ และเน้นให้ข้าราชการเป็น “ผู้ปฏิบัติงานที่ทรงความรู้” หรือ Knowledge Worker โดยมีระบบตำแหน่งมารองรับ กล่าวคือ ข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ สามารถเติบโตก้าวหน้าได้โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดเรื่องตำแหน่ง ซึ่งเป็นไป ตามหลักสากล รวมทั้ง เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิต เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการ สร้างขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติงาน และช่วยให้ข้าราชการ ดำรงชีวิต อย่าง มีความสุข และปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาการมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายตาม ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะที่เงินเดือนและค่าตอบแทนเพิ่มไม่ทันกับค่าครองชีพ

(4) สร้างความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการ
กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. เพื่อทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของข้าราชการ โดยแยกบทบาท ภารกิจและหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. ที่แต่เดิมทำหน้าที่รักษาการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และการพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษข้าราชการ ออกจากกัน ช่วยสร้างสมดุลทางการบริหารทรัพยากรบุคคล และดูแลรักษาระบบคุณธรรมให้แก่ข้าราชการ ในภาพรวมเป็นองค์การที่มีอำนาจอิสระ ไม่อยู่ในกำกับจากฝ่ายบริหาร สร้างสมดุลในการบริหารเพื่อรับกับการกระจายอำนาจ ในการจัดการทรัพยากรบุคคล และช่วยให้ข้าราชการได้รับการดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบคุณธรรมที่เป็นหลักการสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลของราชการ


http://www.bbznet.com/scripts/view.php?user=thailocalhr&board=2&id=5&c=1&order=numtopic

วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความหมาย รายงานศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ TOR

ศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการ(Feasibility Studies FS/Appraisal AP)

ความหมาย
การศึกษาหรือการวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย (ผลตอบแทนและค่าใช้จ่าย) ของแต่ละโครงการในด้านต่างๆ

วัตถุประสงค์
1)ดูว่าสิ่งที่กำหนดไว้มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จตามวัตประสงค์หรือไม่
2)ประเมินว่าควรลงทุนหรือไม่
3)ใช้เป็นแนวทางในการวางรายละเอียดในขั้นการวางแผนดำเนินงาน
4)เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจเพื่อการดำเนินการ

ขอบข่าย
ขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงการ เช่น โครงการภาครัฐ โครงการเอกชน โครงการ-ต่อเนื่อง โครงการใหม่ โครงการด้านอุตสาห-กรรม โครงการเพื่อขยายงานเดิม เป็นต้น

ปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้
-ปัจจัยภายใน
1)ด้านเทคนิค(เทคโนโลยี-การออกแบบ-อัตรากำลัง)
2)ด้านการบริหารจัดการ(กลยุทธ์-ภายในองค์กร-ภายนอก)
3)ด้านการเงิน(ต้นทุน-แหล่งทุน-วิเคราะห์ด้านการเงิน)
-ปัจจัยภายนอก
4)ด้านเศรษฐกิจ(ผลตอบแทนทางศก.-จ้างงาน-กำไร)
5)ด้านสังคม(วัฒนธรรม-Y+No)และการเมือง(ความเสมอภาค-ผลประโยชน์การเมือง-กฏหมาย-ความมั่นคงประเทศ)-SIA
6)ด้านสิ่งแวดล้อม(ความเหมาะสม-ผลกระทบ<ยาว,สั้น,กว้าง,แคบ,ตั้งใจ,ไม่ตั้งใจ>)-EIA

.....................................................................................................................

การจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขโครงการ (TOR)

ความหมาย และความสำคัญของ TOR

ความหมายของ TOR
การจัดทำ TOR (Terms of Reference) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา” เป็นเอกสารที่กําหนดขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจ ที่ผู้จัดทํา TOR ต้องการให้ผู้รับจ้างดําเนินการ รวมทั้งความรับผิดชอบอื่นๆ ของผู้รับจ้างที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้น
ตัวอย่างเช่น TOR สําหรับการว่าจ้างที่ปรึกษาให้ดําเนินการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะกําหนดขอบเขตของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ต้องศึกษา รวมทั้งระดับความลึกของการศึกษาแต่ละประเด็น และรายงานต่างๆซึ่งที่ปรึกษาจะต้องจัดทํา และส่งมอบให้ผู้ว่าจ้างในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดช่วงเวลาของการดําเนินภารกิจ

ดังนั้น TOR จึงเทียบได้กับข้อกําหนด (Specifications) ของสินค้า ที่ผู้ซื้อจัดทําขึ้นสําหรับการจัดซื้อ แต่ต่างกันตรงที่ไม่สามารถจัดทําข้อกําหนดอย่างละเอียด สําหรับผลงานการศึกษาหรือบริการทางวิชาการได้เหมือนกับข้อกําหนดของสินค้า ดังนั้น TOR จึงให้ ข้อกําหนดได้เพียงคร่าวๆเท่านั้น

ความสำคัญของ TOR
-ประการแรก มีความสำคัญมากต่อคุณภาพของผลงานที่จะได้จากผู้รับจ้าง TOR จะต้องมีความชัดเจน และกําหนดประเด็นต่างๆ ที่ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการไว้อย่างชัดเจน TOR ยิ่งมีความชัดเจนเพียงใดยิ่งทําให้การคัดเลือกผู้รับจ้างได้ง่ายขึ้น โปร่งใสมากขึ้นและประเมินปริมาณแรงงานของนักวิชาการสาขาต่างๆที่ต้องใช้ใกล้เคียงกับความจริงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น TOR จึงต้องมีความชัดเจนเพียงพอต่อการประเมินปริมาณและคุณภาพงานของผู้รับจ้าง

-ประการที่สอง เป็นเอกสารอ้างอิงที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้าง TOR นอกจากกําหนดขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจของผู้รับจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างจําเป็นต้องกําหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกผู้รับจ้างไว้ด้วย โดยเสนอแยกต่างหากไว้ในเอกสารข้อมูลสําหรับผู้รับจ้าง TOR ที่ดีจะต้องไม่เป็น TOR ที่กว้าง และทั่วไป จนสามารถนําไปใช้ได้ในทุกกรณี

ดังนั้นการจัดทำ TOR จึงต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น หรือในระดับแนวคิด โดยการร่วม
หารือกับกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายครบถ้วนครอบคลุม

ในองค์กรภาคเอกชน เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุด(Chief Executive Officer -CEO) จะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดแนวคิดโครงการ (project ideas) ที่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการ และความจำเป็นของกิจการ แนวคิดนี้จึงถือว่าเป็นข้อกำหนดเงื่อนไขของโครงการ (terms of reference -TOR) ที่นักวางแผนในหน่วยงานหรือบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างที่จะต้องดำเนินการต่อไป


ความหมายของ TOR http://www.sepo.go.th/mbc/Uploads/Files/1211525200.pdf


...........................................................................................................................

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ในปัจจุบันมักเกิดปัญหาความขัดเเย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ๆเช่นการก่อสร้างเขื่อน การก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรือการวางท่อแก็สที่เห็นเป็นข่าวอยู่นทุกวันนี้ ซึ่งมักจะมีการหยิบยกเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือการทำ อี ไอ เอขึ้นมาสนับสนุนหรือขัดค้านโครงการในมุมมองของเเต่ละฝ่ายเสมอ

การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหมายถึงการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆจากการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งรัฐธรรมนูญเเเห่งราชอนาจักรไทยพ.ศ. 2540 ได้บัญญัติให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งเเวดล้อมจะต้องศึกษาผลกระทบอย่างรุนเเรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมเสียก่อน ซึ่งตาม พ.ร.บ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งเเวดล้อมพ.ศ 2535 ได้กำหนดประเภทเเละขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำ อี ไอ อี ไว้

การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อี ไอ เอ นั้น ช่วยให้หน่วยงานรัฐที่ควบคุมกำกับดูเเลโครงการหรือกิจกรรมต่างๆตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำโครงการเมื่อใดมีการพิจารณาในเเง่มุมของต้นทุนด้านสิ่งเเวดล้อมประกอบเเล้ว ตรงข้ามกับในอดีตที่การตัดสินสร้างหรือไม่สร้างจะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ต้นทุนกำไรของโครงการเป็นหลัก เช่น หากรัฐต้องการจะสร้างเขื่อนก็จะวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการสร้างเขื่อนซึ่งอาจได้เเก่ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งสามารถนำน้ำนั้นมาผลิตเป็นกระเเสไฟฟ้าเพื่อขายให้ผู้บริโภคได้เงินจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำอาจช่วยให้เกษตรกรท้ายลำน้ำสามารถเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำนาได้ทั้งปี เป็นประโยชน์ต่อการทำประมงในบริเวณอ่างเก็บน้ำ และท้ายน้ำ บรรเทาความเสียหายอันเกิดจากน้ำท่วม เเละป้องการน้ำทะเลรุกปากเเม่น้ำได้อีกด้วยเเละเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนในการก่อสร้างเขื่อนเเละอ่างเก็บน้ำซึ่งจะได้แก่ ค่าก่อสร้างเขื่อน เครื่องกำหนดไฟฟ้า ถนน เสาและสายส่งกระเเสไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน อพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมและการตั้งถิ่นฐานใหม่ของประชาชนในอดีตหากการวิเคราะห์พบว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีค่ามากกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจรัฐก็จะดำเนินโครงการทันทีซึ่งในการวิเคราะห์ต้นทุนเเละกำไรดังที่กล่าวนั้น มิได้นำต้นทุนทั้งหมดมาคำนวณ ยังมิได้พิจารณาว่า การก่อสร้างเขื่อนนั้นมีต้นทุนด้านสิ่งแว้ดล้แมใดบ้างที่ต้องสูญเสียไป เช่น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนจมอยู่ใต้น้ำ ป่าไม้บางแห่งถูกทำลาย เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของพื้นที่ดังกล่าวรวมทั้งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย ความเสียหายทางด้านสิ่งเเวดล้อมบางลักษณะ อาจมิได้มีคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์มากนัก เเต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศน์

การจัดทำรายงานผลกระทบฯหรืออี ไอ เอ มีวัตถุประสงค์จะสร้างความปรองดองระหว่างมนุษย์เเละสิ่งเเวดล้อม ช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมจาการทำกิจกรรมของมนุษย์ ส่งเสริมสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์ รวมทั้งให้ความเข้าใจต่อระบบนิเวศน์เเละทรัพยากรธรรมชาติ
ประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างน้ำไม่ว่าจะใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตกระเเสไฟฟ้า ทำการเกษตร อุตสาหกรรม ประมง คมนาคม เขื่อนหนืออ่างเก็บน้ำมีปริมาตรเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศ์มิลลิเมตรขึ้นไป
2. โครงการชลประทานที่มีพื้นที่ชลประทานตั้งเเต่ 80,000 ไร่ขึ้นไป
3. สนามบินพาณิชย์ทุกขนาด เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า)
4. โรงแรมหรือสถานที่ตากอากาศที่มีขนาดตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
5. ระบบทางพิเศษ(ทางด่วน) หรือระบบขนส่งมวลชนที่ไร้ราง (รถไฟฟ้าบนดินใต้ดิน)เช่นกระเช้าไฟฟ้าที่แล่นบนรางต้องทำEIA กระเช้าไฟฟ้าที่แล่นตามเส้นลวดไม่ต้องทำEIA
6. การทำเหมืองแร่ทุกชนิด เเต่การสำรวจแร่ไม่ต้องทำ EIA
7. การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป เขตอุตสาหกรรมส่งออก
8. ท่าเรือพาณิชย์ที่รับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันขึ้นไป
9. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ผลิตกระเเสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป (ความร้อนจากเเก็ส น้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ
10. การอุตสาหกรรม
11. โครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี พื้นที่ลุ่มน้ำจะมีการจัดชั้นตามความสำคัญของลุ่มน้ำเป็นลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 1B ลุ่มน้ำชั้น 1A จะเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ห้ามใช้พื้นที่มีการบุกรุกและใช้ประโยชน์โดยชาวบ้านทำให้สภาพป่าไม้สมบูรณ์จึงต้องจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยการให้ทำ EIA ก่อน
12. การถมดินในทะเลไม่รวมทะเลสาบ
13. การก่อสร้างอาคารที่อยู่ริมเเม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบ หรืออยู่ในอุทยานเเห่งชาติที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ใช้สอย 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
14. อาคารชุด 80 ห้องขึ้นไป
15. การจัดสรรที่ดินตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไปหรือมีเนื้อที่โครงการเกินกว่า 100 ไร่
16. โรงพยาบาลที่มีเตียงผู้ป่วยตั้งเเต่ 60 เตียงขึ้นไป
17. อุตสาหกรรมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
18. อุตสาหกรรมสารเคมีปุ๋ยเคมี
19. การก่อสร้างทางหลวงหรือถนนที่ก่อสร้างผ่านพื้นที่รักษาพันธ์สัตว์ป่า พื้นที่อุทยาน พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ชายฝั่งทะเล
20. โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียหรือของเสีย
21. โรงงานน้ำตาล
22. การผลิตปิโตรเลียม
นอกจาก 22 โครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว หากในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน


ปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1. ทำให้เกิดความล่าช้า หากเป็นโครงการเเก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะทำไม่ได้
2. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลในการตัดสินใจของผู้ทำโครงการเพราะผู้ทำโครงการได้ตัดสินใจทำโครงการนั้นเเล้ว เพียงเเต่จัดทำรายงานผลกระทบให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
3. ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการทำรายงานผลกระทบสิ่งเเวดล้อม ทำให้การประเมินผลกระทบขาดความสมบูรณ์
4. การทำรายงานผลกระทบสิ่งเเวดล้แมทำโดยเจ้าของโครงการจึงขาดความเป็นกลางในการทำรายงานฯ ประชาชนในพื้นที่จึงไม่ยอมรับผลรายงาน

.........................................................................................................................

ตัวอย่างรายงานศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ TOR

1. รายงานผลการศึกษาโครงการขุดลอกระบายน้ำอ้อมแก่งสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบรรเทาอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลการศึกษาโครงการขุดลอกระบายน้ำอ้อมแก่งสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบรรเทาอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้

ผลการศึกษาสภาพและแนวทางแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี
1. โครงการดำเนินการโดยกรมชลประทาน โครงการศึกษาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีตอนล่าง (จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี) โดยปรับปรุงขุดลอกลำน้ำมูลท้ายเมืองอุบลราชธานีถึงบริเวณอำเภอพิบูลมังสาหารและการทำแก้มลิงบริเวณพื้นที่ลำมูลน้อย เพื่อเร่งระบายและลดปริมาณน้ำบางส่วนจากผลการวิเคราะห์จะมีผลให้ระดับน้ำที่สถานี M.7(สะพานเสรีประชาธิปไตย) จะมีระดับลดลงจากเดิมก่อนมีการขุดลอกและสร้างแก้มลิงประมาณ 99-103 ซม. และสามารถลดจำนวนวันที่น้ำท่วมได้ 17-28 วัน การมีแก้มลิงลำมูลน้อยจะช่วยกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งเป็นที่พักผ่อนของจังหวัดได้ ค่าก่อสร้างของโครงการประมาณ 1,980 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน)
2. โครงการดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
2.1 โครงการ ศึกษาแบบจำลองสภาพน้ำท่วมพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำมูล เพื่อทราบระดับน้ำและพื้นที่ท่วมนอง บริเวณเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ สรุปได้ว่าการใช้สิ่งปลูกสร้าง หรือ การลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ขุดลอกทางเชื่อม ปรับปรุงถนน ฯลฯ จะไม่สามารถแก้ไข หรือบรรเทา อุทกภัยได้อย่างมีนัยสำคัญ
2.2 โครงการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุทกภัย ในเขตอำเภอเมืองวารินชำราบ ผลศึกษาสรุปได้ว่าผู้ได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมในเขตเทศบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 1,731 ครัวเรือน นอกจากนี้อุทกภัยส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการเก็บขยะ การกำจัด หรือการจัดการขยะ และคุณภาพของน้ำในแม่น้ำมูล และแหล่งน้ำต่าง ๆ
2.3 โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการขุดคลองลัดแม่น้ำมูล ได้กำหนดแนวทางคลองเป็นส่วนย่อย ๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแนวคลองย่อย ดังนี้ 1) แนวคลอง บ้านโนนข่า-ห้วยน้อย 2) แนวคลองวัดโพธิ์ศรีใต้-หนองคอม-ห้วยน้อย 3) เส้นทางน้ำธรรมชาติห้วยน้อย —ดอนตาดไฮ 4) แนวคลองลัดดอนตาดไฮ-ห้วยแคน-บ้านตุงลุง 5) ห้วยน้ำจาง-ห้วยคันลึม-ห้วยหินลาด-บ้านวังใหม่
ผลการศึกษาแสดงว่า การขุดคลองลัดระบายน้ำตามแนวทางต่าง ๆ มิได้เกิดประสิทธิผล หรือมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาอุทกภัยบริเวณอำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ แต่อย่างใด กล่าวคือ การขุดคลองผัน หรือระบายน้ำ มิได้ทำให้ระดับน้ำท่วมที่บริเวณอำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ และการทำระบบชลประทานไม่เหมาะสม ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับจะต้องมีผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

http://www.ryt9.com/s/cabt/67023/


2. การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย - มาเลเซีย.
http://www.envi.psu.ac.th/ptt/gsp.html

วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พลังงานทดแทน

ในปัจจุบันเรื่องพลังงานเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และนับวันจะมีผลกระทบรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติมากขึ้นทุกที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการร่วมหาหนทางแก้ไข ทำการศึกษา ค้นคว้า สำรวจ ทดลอง ติดตามเทคโนโลยีอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีใหม่ๆในด้านพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในประเทศไทยต่อไป โดยคำนึงถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมซึ่งพอจะจำแนกประเภทของพลังงานทดแทนได้ดังนี้

พลังงานแสงอาทิตย์
ดวงอาทิตย์ให้พลังงานจำนวนมหาศาลแก่โลกของเรา พลังงานจากดวงอาทิตย์จัดเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญที่สุด เป็นพลังงานสะอาดไม่ทำปฎิกิริยาใดๆอันจะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เซลล์แสงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางอิเล็คทรอนิคส์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเปลี่ยนเซลล์แสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง ส่วนใหญ่เซลล์แสงอาทิตย์ทำมาจากสารกึ่งตัวนำพวกซิลิคอน มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้สูงถึง 22 เปอร์เซนต์ ในส่วนของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ในเกณฑ์สูง พลังงานโดยเฉลี่ยซึ่งรับได้ทั่วประเทศประมาณ 4 ถึง 4.5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน ประกอบด้วยพลังงานจากรังสีตรง (Direct Radiation) ประมาณ 50 เปอร์เซนต์ ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานรังสีกระจาย (Diffused Radiation) ซึ่งเกิดจากละอองน้ำในบรรยากาศ(เมฆ) ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าบริเวณที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรออกไปทั้งแนวเหนือ - ใต้
ในประเทศไทยมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้จำนวน 2 รูปแบบ คือ
1. ผลิตไฟฟ้าโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ เช่น
โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง ขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 500 กิโลวัตต์ ที่ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
สถานีพลังงานแสงอาทิตย์สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
สถานีพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
โครงการสาธิต ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน

2. ผลิตความร้อน เช่น
เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์
เครื่องสกัดสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์
เครื่องอบแห้ง เช่น กล้วย ปลา โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์


พลังงานลม
เป็นพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ 2 ที่ ซึ่งสะอาดและบริสุทธิ์ใช้แล้วไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลก ได้รับความสนใจนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน กังหันลมก็เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่สามารถนำพลังงานลมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในการผลิตกระแสไฟฟ้า และในการสูบน้ำ ซึ่งได้ใช้งานกันมาแล้วอย่างแพร่หลายพลังงานลมเกิดจากพลังงานจากดวงอาทิตย์ตกกระทบโลกทำให้อากาศร้อน และลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากบริเวณอื่นซึ่งเย็นและหนาแน่นมากกว่าจึงเข้ามาแทนที่ การเคลื่อนที่ของอากาศเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดลม และมีอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวฝั่งทะเลอันดามันและด้านทะเลจีน(อ่าวไทย) มีพลังงานลมที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะพลังงานกล (กังหันสูบน้ำกังหันผลิตไฟฟ้า) ศักยภาพของพลังงานลมที่สามารถ นำมาใช้ประโยชน์ได้สำหรับประเทศไทย มีความเร็ว อยู่ระหว่าง 3 - 5 เมตรต่อวินาที และความเข้มพลังงานลมที่ประเมินไว้ได้อยู่ระหว่าง 20 - 50 วัตต์ต่อตารางเมตร เช่น
กังหันลมแบบแกนนอนติดตั้งทดสอบบริเวณบ้านอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
กังหันลมแบบแกนดิ่งติดตั้งทดสอบบริเวณบ้านอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

พลังงานความร้อนใต้พิภพ
เป็นพลังงานตามธรรมชาติที่เกิด และเก็บสะสมตัวอยู่ภายใต้ผิวโลก เช่นเดียวกับน้ำมันดิบปิโตรเลียม หากแต่ว่าแหล่งพลังงานเหล่านี้ เก็บอยู่ในรูปของน้ำร้อนหรือไอน้ำร้อน ลักษณะที่ปรากฏออกมาให้เห็นบนผิวโลก ได้แก่ บ่อโคลนเดือด พุก๊าซ บ่อน้ำร้อน และน้ำพุร้อน ในประเทศไทย มีปรากฏการณ์ตามธรรมชาติในลักษณะน้ำพุร้อนกว่า 60 แห่งตามแนวเหนือ-ใต้แถบชายแดนตะวันตกของประเทศไทย (แนวเทือกเขาตะนาวศรี)
เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพฝาง แหล่งน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
น้ำร้อนที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้วนั้น แม้อุณหภูมิจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอบแห้ง และใช้ในห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตรได้ นอกจากนั้น น้ำที่เหลือใช้แล้วยังสามารถนำไปใช้ในกิจการเพื่อกายภาพบำบัด และการท่องเที่ยวได้อีก ท้ายที่สุดคือ น้ำทั้งหมดซึ่งยังมีสภาพเป็นน้ำอุ่นอยู่เล็กน้อย จะถูกปล่อยลงไปผสมกับน้ำตามธรรมชาติในลำน้ำ ซึ่งนับเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้งได้อีกทางหนึ่งด้วย

พลังงานชีวมวล

เชื้อเพลิงที่มาจากชีวะ หรือสิ่งมีชีวิตเช่น ไม้ฟืน แกลบ กากอ้อย เศษไม้ เศษหญ้า เศษเหลือทิ้งจากการเกษตร เหล่านี้ใช้เผาให้ความร้อนได้ และความร้อนนี้แหละที่เอาไปปั่นไฟ นอกจากนี้ยังรวมถึงมูลสัตว์และของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตร เช่น เปลือกสับปะรดจากโรงงานสับปะรดกระป๋อง หรือน้ำเสียจากโรงงานแป้งมัน ที่เอามาหมักและผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยเหตุที่ประเทศไทยทำการเกษตรอย่างกว้างขวาง วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ชานอ้อย กากมะพร้าว ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก (เทียบได้น้ำมันดิบปีละไม่น้อยกว่า 6,500 ล้านลิตร) ก็ควรจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ ในกรณีของโรงเลื่อย โรงสี โรงน้ำตาลขนาดใหญ่ อาจจะยินยอมให้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าต่างๆในประเทศ ในลักษณะของการผลิตร่วม (Co-generation) ซึ่งมีใช้อยู่แล้วหลายแห่งในต่างประเทศโดยวิธีดังกล่าวแล้วจะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในประเทศสำหรับส่วนรวมได้มากยิ่งขึ้นทั้งนี้อาจจะรวมถึงการใช้ไม้ฟืนจากโครงการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่นับล้านไร่ ในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องลดปริมาณการปลูกมันสำปะหลัง อ้อย เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวทางด้านการตลาดของพืชทั้งสองชนิด อนึ่ง สำหรับผลิตผลจากชีวมวลในลักษณะอื่นที่ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เช่น แอลกอฮอล์ จากมันสำปะหลัง ก๊าซจากฟืน(Gasifier) ก๊าซจากการหมักเศษวัสดุเหลือจากการเกษตร(Bio Gas) ขยะ ฯ หากมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ก็อาจนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้เช่นกัน

พลังงานน้ำ

พื้นผิวโลกถึง 70 เปอร์เซนต์ ปกคลุมด้วยน้ำ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย น้ำเหล่านี้มีการเปลี่ยนสถานะและหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ระหว่างผิวโลกและบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่า วัฏจักรของน้ำ น้ำที่กำลังเคลื่อนที่มีพลังงานสะสมอยู่มาก และมนุษย์รู้จักนำพลังงานนี้มาใช้หลายร้อยปีแล้ว เช่น ใช้หมุนกังหันน้ำ ปัจจุบันมีการนำพลังงานน้ำไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า

พลังงานจากขยะ

พลังงานจากขยะจากบ้านเรือนและกิจการต่างๆ เป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง ขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมวลชีวภาพ เช่น กระดาษ เศษอาหาร และไม้ ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่ถูกออกแบบให้ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงได้ ที่เมืองบัลโม ประเทศสวีเดน ไฟฟ้าที่ใช้ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ มาจากการเผาขยะ โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง จะนำขยะมาเผาบนตะแกรง ความร้อนที่เกิดขึ้นใช้ต้มน้ำในหม้อน้ำจนกลายเป็นไอน้ำเดือด ซึ่งจะไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เหมือนกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ)

http://elearning.nectec.or.th/index.php?mod=Courses&op=showcontent&cid=58&qid=&lid=443&sid=&page

เปิดนโยบาย อภิสิทธิ์1 ประชานิยมเต็มรูปแบบ

1.นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก

1.1 การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชนและเอกชนในการลงทุนและการบริโภค
1.1.1 เสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยใช้แนวทางสันติวิธี รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งการฟื้นฟูระเบียบสังคมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม สนับสนุนองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีส่วนร่วมสร้างความสมานฉันท์
1.1.2 จัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยยึดมั่นหลักการสร้างความสมานฉันท์ และแนวทาง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม กำหนดจังหวัดชายแดนเป็นเขตพัฒนาพิเศษ ที่มีการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิทธิพิเศษด้านภาษี และพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมฮาลาล
1.1.3 ปฏิรูปการเมือง โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูป โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ในแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย
1.1.4 เร่งสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของชาวโลก โดยให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมืออาเซียนเป็นลำดับแรก และร่วมมือกับรัฐสภาในการพิจารณาอนุมัติเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียนจะต้องลงนามในช่วงของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค. และเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ในเดือนก.พ. 2552
1.1.5 ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นครอบคลุม ภาคเกษตรและเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคอสังหาริมทรัพย์ การสร้างงานและสร้างรายได้ในชนบท การพัฒนาแหล่งน้ำและฟื้นฟูทรัพยากรให้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค. พร้อมจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเม็ดเงินของรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
1.1.6 เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยร่วมกับภาคเอกชนประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ และปรับแผนงบประมาณของส่วนราชการเพื่อใช้ในการจัดการฝึกอบรมและสัมมนาให้กระจายทั่วประเทศ รวมทั้งลดหย่อนค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
1.1.7 เร่งลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนที่มีความคุ้มค่า เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพที่มุ่งสู่การป้องกันและส่งเสริม การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการพัฒนาระบบบริการจัดการน้ำและการชลประทาน ให้สามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในปี 2552

1.2 การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน

1.2.1 ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้าง และป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรม และบริการทุกระดับ โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชน
1.2.2 ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อรองรับปัญหาว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมและนักศึกษาจบใหม่ โดยจัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานประมาณ 5 แสนคน ในระยะเวลา 1 ปี ตามกลุ่มความถนัดและศักยภาพ และรองรับแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วิสาหกิจและธุรกิจชุมชน
1.2.3 เร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้างและผู้ว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้ตามกฎหมายโดยเร็ว การหางานใหม่ การสร้างงาน และการเพิ่มพูนทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ รวมทั้งการจัดสวัสดิการที่จำเป็น เช่น การเพิ่มวงเงินให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ดำเนินโครงการสานฝันแรงงานคืนถิ่น
1.2.4 สร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยจัดสรรเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่แสดงความจำนงโดยการขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการสงเคราะห์ รวมทั้งขยายเพดานให้กู้ยืมจากกองทุนผู้สูงอายุเป็น 3 หมื่นบาทต่อราย
1.2.5 เพิ่มมาตรการด้านการคลัง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชนและกระตุ้นธุรกิจในสาขาที่ถูกผลกระทบ
1.2.6 สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง และจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินที่เคยจัดสรรเดิม เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชน ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเร่งรัดและลดขั้นตอนเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้รวดเร็ว
1.2.7 ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรผ่านกลไกและเครื่องมือของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเร่งสร้างระบบประกันความเสี่ยงทางการเกษตร ทั้งความเสี่ยงราคาพืชผลผ่านกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและผลอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ
1.2.8 เร่งรัดและพัฒนาตลาดและระบบการกระจายสินค้า ของสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก
1.2.9 จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบ มีระบบการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาความเข้มแข็งของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
1.2.10 ส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติงานเชิงรุก ในการส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่น/ชุมชน การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการเฝ้าระวังโรคในชุมชน โดยจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทนให้กับอสม. เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

1.3 ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

1.3.1 ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี โดยให้สนับสนุนตำราในวิชาหลักให้กับทุกโรงเรียน จัดให้มีชุด นักเรียนและอุปกรณ์การเรียนฟรีให้ทันปีการศึกษา 2552 และทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายการที่โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครอง
1.3.2 กำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ ให้มีราคาที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนอย่างเหมาะสมและไม่เป็นการเอาเปรียบ ผู้บริโภค
1.3.3 ดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการเดินทาง ก๊าซหุงต้ม และบริการด้านสาธารณูปโภค โดยปรับปรุงมาตรการดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด
1.3.4 ใช้กองทุนน้ำมันในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการใช้น้ำมันอย่างประหยัด
1.4 จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเร่งรัดติดตาม แก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนในการปฏิบัติ และกำหนดมาตรการและโครงการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน

http://www.posttoday.com/politics.php?id=24329