วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552

ไอซีที เดินหน้าสร้างความรู้การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์

นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีประกาศกระทรวงฯ เรื่อง “หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นมานั้น ปรากฏว่ายังมีผู้ให้บริการในกลุ่มที่จะต้องจัดเก็บข้อมูลจราจรตามประกาศฯ บางราย ยังขาดความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวอยู่ กระทรวงฯ โดยสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550 ขึ้น โดยเป้าหมายในการจัดทำโครงการฯ นี้ คือ การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการจัดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง การป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันการทำลาย การแก้ไข การเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยมิชอบ และแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติฯ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ด้าน นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า “กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินโครงการฯ นี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กลุ่มผู้ให้บริการประเภท 5(1)ค 5(1)ง และ 5(2) ตามประกาศกระทรวงฯ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละหน่วยงานเข้าใจวิธีการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือ Traffic Data ที่ถูกต้องตามมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อันถือเป็นการเสริมสร้างความตระหนัก รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐทราบถึงวิธีดำเนินการ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” สำหรับการดำเนินโครงการฯ นั้น จะมีการสัมมนาเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ สำหรับผู้ดูแลระบบ Basic Radius Configuration การติดตั้งใช้งาน Authentication Gateway นอกจากนี้ยังมีการจัดระดมสมองเกี่ยวกับ Sever Log Management / Log Redirect / Log Rotate และ Centralize log Management โดยผลจากการระดมสมองในครั้งนี้ จะนำมาเป็นแนวทางในการปรับประยุกต์ใช้กับภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการสัมมนานี้จะจัดครอบคลุม 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางที่กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ ภาคใต้ที่จ.ภูเก็ต และจ.ตรัง ภาคตะวันออก ที่จ.จันทบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.ขอนแก่น และหนองคาย ส่วนกลุ่มเป้าหมายในการสัมมนา คือ ผู้ให้บริการภาคเอกชน และผู้ให้บริการภาครัฐ รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้ กล่าวว่า “ทางมหาวิทยาลัยฯ มีความพร้อมทั้งในด้านตัวบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านวิชาการความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการวิชาการ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการโครงการนี้ จะสร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมกันป้องปรามภัยทางคอมพิวเตอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” ---------------------------------------- ผู้ประกาศ สำนักงานปลัดกระทรวง

กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กฏบัตรอาเซียน)

เรา บรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดย มีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน
รับทราบด้วย ความพึงพอใจในความสำเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียนนับตั้งแต่มีการก่อ ตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน
โดยระลึกถึงการ ตัดสินใจจัดทำกฎบัตรอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน และปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตรอาเซียน

ตระหนักถึง การมีผลประโยชน์ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประชาชนและรัฐสมาชิกอา เซียนซึ่งมีความผูกพันกันทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนมีวัตถุประสงค์และชะตาร่วมกัน
ได้รับแรงบันดาลใจและรวมกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน อัตลักษณ์เดียวกัน และประชาคมที่มีความเอื้ออาทรเดียวกัน

รวมกันด้วย ความปรารถนาและเจตจำนงร่วมกันที่จะดำรงอยู่ในภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพที่ถาวร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางสังคม

ร่วมกัน และที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ อุดมการณ์ และแรงดลใจที่สำคัญของอาเซียน
เคารพความ สำคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงในกิจการภายใน ฉันทามติและเอกภาพในความหลากหลาย

ยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ตกลงใจที่จะประกันการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และตั้งมั่นให้ ความอยู่ดีกินดี การดำรงชีวิตและสวัสดิการของประชาชนเป็นแกนของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

เชื่อมั่นใน ความจำเป็นที่จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในระดับภูมิภาค เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่มีความเหนียวแน่นทางการเมือง การรวมตัวทางเศรษฐกิจ และมีความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อที่จะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันและ อนาคต

ผูกพันที่ จะเร่งสร้างประชาคมโดยผ่านความร่วมมือ และการรวมตัวในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยข้อตกลงอาเซียนฉบับที่ 2

ในการนี้ จึงตกลงใจที่จะจัดทำกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันของอาเซียนโดยกฎบัตรนี้
และเพื่อการนี้ ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมาประชุมกันที่สิงคโปร์ ในวาระประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ได้เห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียนนี้

หมวดที่ 1
วัตถุประสงค์และหลักการ

ข้อ 1: วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของอาเซียนคือ
1. เพื่อธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ กับทั้งเสริมสร้างคุณค่าทางสันติภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น
2. เพื่อ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวสู่สภาวะปกติของภูมิภาคโดยการส่งเสริมความร่วม มือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
3. เพื่อธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอื่นๆ ทุกชนิด
4. เพื่อ ให้มั่นใจว่าประชาชนและรัฐสมาชิกของอาเซียนอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้โดย สันติในสภาวะที่เป็นธรรม มีประชาธิปไตยและมีความสมานสามัคคี
5. เพื่อ สร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลง ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้ รับความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน
6. เพื่อบรรเทาความยากจนและลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียนผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ
7. เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน
8. เพื่อ เผชิญหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบ อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ
9. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมในภูมิภาค ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในภูมิภาค
10. เพื่อ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในเรื่องการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน
11. เพื่อ เพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีและการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียนด้วยการให้ประชาชน มีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม
12. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง และปราศจากยาเสพติด สำหรับประชาชนของอาเซียน
13. เพื่อ ส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์ จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียน
14. เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนด้วยการส่งเสริมความสำนึกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาคยิ่งขึ้น และ
15. เพื่อ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อน ขั้นแรกของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ในภาพแบบของภูมิภาคที่ เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น
ข้อ 2: หลักการ
1. ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 1 อา เซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนยืนยันและยึดมั่นในหลักการพื้นฐานที่ปรากฏในปฏิญญา ความตกลง อนุสัญญา ข้อตกลง สนธิสัญญา และตราสารอื่นๆ ของอาเซียน
2. อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนจะปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
(ก) การเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
(ข) ความผูกพันและความรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคงและความมั่งคั่งของภูมิภาค
(ค) การไม่ใช้การรุกราน และการข่มขู่ว่าจะใช้หรือการใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
(ง) การอาศัยการระงับข้อพิพาทโดยสันติ
(จ) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
(ฉ) การเคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลาย และการบังคับ จากภายนอก
(ช) การปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
(ซ) การยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตาม รัฐธรรมนูญ
(ฌ) การเคารพเสรีภาพพื้นฐาน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
(ญ) การยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
(ฎ) การ ละเว้นจากการมีส่วนร่วมในนโยบายหรือกิจกรรมใดๆ รวมถึงการใช้ดินแดนของตน ซึ่งดำเนินการโดยรัฐสมาชิกอาเซียนหรือรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนหรือผู้กระทำ ที่ไม่ใช่รัฐใดๆ ซึ่งคุกคามอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
(ฏ) การ เคารพในวัฒนธรรม ภาษาและศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน โดยเน้นคุณค่าร่วมกันของประชาชนอาเซียนในจิตวิญญาณของเอกภาพในความหลากหลาย
(ฐ) ความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความสัมพันธ์ภายนอกทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยคงไว้ซึ่งความมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน การมองไปภายนอก การไม่ปิดกั้นและการไม่เลือกปฏิบัติ และ
(ฑ) การยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียนซึ่งมีกฎเป็นพื้นฐาน สำหรับการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไปสู่การขจัดการ กีดกันทั้งปวงต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในระบบเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยตลาด

หมวดที่ 2
สภาพบุคคลตามกฎหมาย

ข้อ 3: สภาพบุคคลตามกฎหมายของอาเซียน
อาเซียน ในฐานะองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล ได้รับสภาพบุคคลตามกฎหมายโดยกฎบัตรนี้

หมวดที่ 3
สมาชิกภาพ

ข้อ 4: รัฐสมาชิก
1. รัฐ สมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ข้อ 5: สิทธิและพันธกรณี
1. ให้รัฐสมาชิกมีสิทธิและพันธกรณีที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎบัตรนี้
2. ให้ รัฐสมาชิกมีมาตรการที่จำเป็นทุกประการอันรวมถึงการออกกฎหมายภายในที่เหมาะสม เพื่ออนุวัติบทบัญญัติของกฎบัตรนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหมดของรัฐสมาชิก
3. ในกรณีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้นำข้อ 20 มาใช้บังคับ
ข้อ 6: การรับสมาชิกใหม่
1. กระบวนการในการสมัครและการรับสมาชิกของอาเซียนให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
2. การรับสมาชิกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(ก) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ข) การยอมรับโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
(ค) การตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรนี้ และ
(ง) ความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติพันธกรณีของสมาชิกภาพ
3. การรับสมาชิกให้ตัดสินโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
4. รัฐผู้สมัครจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อได้ลงนามภาคยานุวัติสารกฎบัตรนี้

หมวดที่ 4
องค์กร

ข้อ 7: ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
1. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนประกอบด้วยประมุขของรัฐ หรือ หัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิก
2. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน:
(ก) เป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายของอาเซียน
(ข) พิจารณา หารือ ให้แนวนโยบาย และตัดสินใจในประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียน ในเรื่องสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก และในทุกประเด็นที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยคณะมนตรี ประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขา
(ค) สั่ง การให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละคณะมนตรีที่เกี่ยวข้องให้จัดการประชุม เฉพาะกิจระหว่างรัฐมนตรี และหารือประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับอาเซียน ที่มีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ทั้งนี้ ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนรับรองกฎการดำเนินการประชุมดังกล่าว
(ง) ตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่ออาเซียนโดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม
(จ) ตัดสินใจในเรื่องที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนภายใต้หมวดที่ 7 และ 8
(ฉ) อนุมัติการจัดตั้งและการยุบองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาและสถาบันอื่นๆ ของอาเซียน และ
(ช) แต่ง ตั้งเลขาธิการอาเซียน ที่มีชั้นและสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับความไว้ วางใจและตามความพอใจของประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
3. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ก) จัดประชุมสองครั้งต่อปี และให้รัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ และ
(ข) เรียก ประชุม เมื่อมีความจำเป็น ในฐานะการประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจ โดยมีประธานการประชุมเป็นรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน โดยจัดในสถานที่ที่รัฐสมาชิกอาเซียนจะตกลงกัน
ข้อ 8: คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
1. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี
2. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
(ก) เตรียมการประชุมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ข) ประสานการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ค) ประสานงานกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ เพื่อเพิ่มความสอดคล้องกันของนโยบาย ประสิทธิภาพ และความร่วมมือระหว่างกัน
(ง) ประสานงานรายงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน ซึ่งเสนอที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(จ) พิจารณารายงานประจำปีของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับงานของอาเซียน
(ฉ) พิจารณารายงานของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับหน้าที่และการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(ช) เห็นชอบการแต่งตั้งและการยุติหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน และ
(ซ) ปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรนี้ หรือหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
3. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 9: คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ
1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
2. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะมีองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตน
3. ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนของรัฐตนสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
4. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละเสาหลักของเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียน ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
(ก) ทำให้แน่ใจว่ามีการอนุวัติข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
(ข) ประสานการปฏิบัติงานของสาขาต่างๆ ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และในประเด็นซึ่ง คาบเกี่ยวกับคณะมนตรีประชาคมอื่นๆ และ
(ค) เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในขอบข่าย การดำเนินงานของตน
5. ให้ คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี และมีประธานการประชุมเป็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมจากรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอา เซียน
6. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 10: องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
1. ให้องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
(ก) ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่มีอยู่
(ข) ปฏิบัติตามความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของแต่ละองค์กร
(ค) เสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียน และ
(ง) เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีประชาคมอาเซียนของแต่ละองค์กร
2. องค์กร ระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาแต่ละองค์กรอาจมีเจ้าหน้าที่อาวุโสและองค์กร ย่อยที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตนตามที่ระบุในภาคผนวก 1 เพื่อดำเนินหน้าที่ของตน ภาคผนวกดังกล่าวอาจได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการของผู้แทนถาวรประจำอาเซียน โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้
ข้อ 11: เลขาธิการอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
1. ให้ เลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ และให้ได้รับการเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพ และความเท่าเทียมกันทางเพศ
2. ให้เลขาธิการอาเซียน
(ก) ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งระดับสูงนี้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎบัตรฉบับนี้และตราสาร พิธีสาร และแนวปฏิบัติที่มีอยู่ของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
(ข) อำนวยความสะดวกและสอดส่องดูแลความคืบหน้าในการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสิน ใจของอาเซียน และเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ค) เข้าร่วมในการประชุมต่างๆ ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน คณะมนตรีประสานงานอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา และการประชุมอาเซียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(ง) เสนอข้อคิดเห็นของอาเซียนและเข้าร่วมการประชุมกับภาคีภายนอกตามแนวนโยบายที่ได้รับ ความเห็นชอบและตามอำนาจหน้าที่ ที่เลขาธิการอาเซียนได้รับมอบหมาย และ
(จ) เสนอแนะการแต่งตั้งและการยุติหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียนต่อคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
เพื่อให้ความเห็นชอบ
3. ให้เลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอาเซียนด้วย
4. ให้ เลขาธิการอาเซียนได้รับการสนับสนุนจากรองเลขาธิการอาเซียนสี่คน ซึ่งมีชั้นและสถานะของรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยให้รองเลขาธิการอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียนในการปฏิบัติหน้าที่ ของตน
5. รองเลขาธิการอาเซียนทั้งสี่คนต้องมีสัญชาติที่แตกต่างจากเลขาธิการอาเซียนและมาจากรัฐสมาชิกที่แตกต่างกันสี่รัฐสมาชิกอาเซียน
6. ให้รองเลขาธิการอาเซียนสี่คน ประกอบด้วย
(ก) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ ซึ่งได้รับเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต คุณสมบัติ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเท่าเทียมกันทางเพศ และ
(ข) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจต่ออายุได้อีกสามปี ให้ รองเลขาธิการอาเซียนสองคนนี้ได้รับการคัดเลือกโดยเปิดกว้างบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ
7. ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียนและพนักงานตามที่จำเป็น
8. ให้เลขาธิการอาเซียนและพนักงาน
(ก) ยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของความซื่อสัตย์สุจริต ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
(ข) ไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลหรือภาคีภายนอกอาเซียนใดๆ และ
(ค) ละเว้นจากการดำเนินการใด ซึ่งอาจมีผลสะท้อนถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนัก เลขาธิการอาเซียน ซึ่งรับผิดชอบต่ออาเซียนเท่านั้น
9. รัฐ สมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐรับที่จะเคารพในลักษณะความเป็นอาเซียนโดยเฉพาะของความ รับผิดชอบของเลขาธิการอาเซียนและพนักงาน และจะไม่แสวงหาที่จะมีอิทธิพลต่อเลขาธิการอาเซียนและพนักงาน ในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านั้น
ข้อ12: คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน
1. ให้รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำอาเซียนหนึ่งคน ในระดับเอกอัครราชทูตที่มีถิ่นพำนัก ณ กรุงจาการ์ตา
2. ผู้แทนถาวรรวมกันตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการผู้แทนถาวร ซึ่งจะต้อง
(ก) สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
(ข) ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาอื่นๆ
(ค) ติดต่อประสานงานกับเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานของตน
(ง) อำนวยความสะดวกความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก และ
(จ) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่อาจกำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
ข้อ 13: สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ
ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งจะต้อง
(ก) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ
(ข) เป็นหน่วยงานระดับชาติ ซึ่งเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องทั้งปวงเกี่ยวกับอาเซียน
(ค) ประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการอนุวัติข้อตัดสินใจของอาเซียน
(ง) ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน
(จ) ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ และ
(ฉ) มีส่วนร่วมสร้างประชาคมอาเซียน
ข้อ 14: องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
1. โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ให้อาเซียนจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น
2. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจะกำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ข้อ 15: มูลนิธิอาเซียน
1. ให้ มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอา เซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการดำเนินการร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน
2. ให้มูลนิธิอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียน ผู้ซึ่งจะต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียน

หมวดที่ 5
องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน

ข้อ 16: องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
1. อาเซียนอาจมีความสัมพันธ์กับองคภาวะซึ่งสนับสนุนกฎบัตรอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์และหลักการของอาเซียน องคภาวะที่มีความสัมพันธ์เหล่านี้ระบุอยู่ในภาคผนวก 2
2. ให้คณะกรรมการผู้แทนถาวรบัญญัติกฎว่าด้วยขั้นตอนดำเนินงานและหลักเกณฑ์สำหรับการมีความสัมพันธ์ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน
3. ภาคผนวก 2 อาจ ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ผู้แทนถาวร โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้

หมวด 6
ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์

ข้อ 17: ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของอาเซียน
1. ให้อาเซียนได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในดินแดนของรัฐสมาชิกเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ของอาเซียน
2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์จะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากระหว่างอาเซียนและรัฐสมาชิกเจ้าภาพ
ข้อ 18: ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของเลขาธิการอาเซียนและพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน
1. ให้ เลขาธิการอาเซียนและพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนที่เข้าร่วมในกิจกรรม ต่างๆ อย่างเป็นทางการของอาเซียนหรือเป็นตัวแทนของอาเซียนในรัฐสมาชิก ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิ์เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ ของตน
2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ภายใต้ข้อนี้จะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากของอาเซียน
ข้อ 19 ¬¬: ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียน
1. ให้ ผู้แทนถาวรของรัฐสมาชิกประจำอาเซียนและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่เข้าร่วม ในกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นทางการของอาเซียนหรือเป็นตัวแทนของอาเซียนในรัฐสมาชิก ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิ์เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
2. ให้ ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการ ปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียนอยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วย ความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 หรือเป็นไปตามกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง

หมวด 7
การตัดสินใจ

ข้อ 20: การปรึกษาหารือและฉันทามติ
1. โดยหลักการพื้นฐาน ให้การตัดสินใจของอาเซียนอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือและฉันทามติ
2. หากไม่สามารถหาฉันทามติได้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอาจตัดสินว่า การตัดสินใจเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะสามารถทำได้อย่างไร
3. ไม่มีความใดในวรรค 1 และ 2 ของข้อนี้กระทบถึงวิธีการตัดสินใจที่ระบุอยู่ในตราสารทางกฎหมายของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
4. ในกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
ข้อ 21: การอนุวัติและขั้นตอนการดำเนินงาน
1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะบัญญัติกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของตนเอง
2. ในการอนุวัติข้อผูกพันด้านเศรษฐกิจ อาจนำสูตรการเข้าร่วมแบบยืดหยุ่นรวมถึงสูตรอาเซียนที่ไม่รวมสมาชิกบางรัฐมาใช้ หากมีฉันทามติ

หมวด 8
การระงับข้อพิพาท

ข้อ 22: หลักการทั่วไป
1. รัฐสมาชิกต้องพยายามที่จะระงับข้อพิพาททั้งปวงอย่างสันติให้ทันท่วงที โดยผ่านการสนทนา การปรึกษาหารือ และการเจรจา
2. ให้อาเซียนจัดตั้งและธำรงไว้ซึ่งกลไกการระงับข้อพิพาทในทุกสาขาความร่วมมือของอาเซียน
ข้อ 23: คนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม และการไกล่เกลี่ย
1. รัฐ สมาชิกที่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทอาจจะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ที่จะใช้คนกลางที่ มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย เพื่อระงับข้อพิพาทภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน
2. คู่กรณีในข้อพิพาทอาจร้องขอให้ประธานอาเซียน หรือเลขาธิการอาเซียน ทำหน้าที่โดยตำแหน่ง ในการเป็นคนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย
ข้อ 24: กลไกระงับข้อพิพาทตามตราสารเฉพาะ
1. ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับตราสารเฉพาะของอาเซียนโดยกลไกและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในตราสารนั้นๆ
2. ให้ ระงับข้อพิพาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ตราสารอาเซียนใดๆ โดยสันติตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ ตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของสนธิสัญญาดังกล่าว
3. ใน กรณีที่มิกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ความตกลงทางเศรษฐกิจ ของอาเซียนตามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน
ข้อ 25: การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท
ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ ให้มีการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทที่เหมาะสม รวมถึงอนุญาโตตุลาการ สำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้กฎบัตรนี้ และตราสารอาเซียนอื่นๆ
ข้อ 26: ข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้
ใน กรณีที่ยังคงระงับข้อพิพาทมิได้ ภายหลังการใช้บทบัญญัติก่อนหน้านี้ในหมวดนี้แล้ว ให้เสนอข้อพิพาทนั้นไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อตัดสิน
ข้อ 27: การปฏิบัติตาม
1. เลขาธิการ อาเซียนโดยการช่วยเหลือจากสำนักเลขาธิการอาเซียน หรือ องค์กรอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับแต่งตั้ง จะสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน และส่งรายงานไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
2. รัฐ สมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน อาจส่งเรื่องไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
ข้อ 28: บทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติ และกระบวนการระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
หากมิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้ รัฐสมาชิกยังคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทอย่างสันติที่ระบุไว้ในข้อ 33(1) ของกฎบัตรสหประชาชาติ หรือตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่รัฐสมาชิกคู่พิพาทเป็นภาคี

หมวด 9
งบประมาณและการเงิน

ข้อ 29: หลักการทั่วไป
1. อาเซียนจะต้องกำหนดกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทางการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
2. อาเซียนจะต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีและระเบียบวินัยด้านงบประมาณ
3. บัญชีการเงินจะต้องได้รับการตรวจสอบภายในและภายนอก
ข้อ 30: งบประมาณสำหรับการดำเนินงานและการเงินของสำนักเลขาธิการอาเซียน
1. สำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องได้รับทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
2. งบ ประมาณสำหรับการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องมาจากรัฐสมาชิกอา เซียนโดยเงินบริจาคประจำปีรัฐละเท่าๆ กัน ซึ่งจะต้องส่งให้ทันกำหนด
3. เลขาธิการ จะต้องเตรียมงบประมาณสำหรับการดำเนินงานประจำปีของสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
4. สำนัก เลขาธิการอาเซียนจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทาง การเงินที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร

หมวด 10
การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน

ข้อ 31: ประธานอาเซียน
1. ตำแหน่งประธานอาเซียนให้หมุนเวียนทุกปี บนพื้นฐานของลำดับอักษรของชื่อภาษาอังกฤษของรัฐสมาชิก
2. ในหนึ่งปีปฏิทิน อาเซียนจะมีตำแหน่งประธานหนึ่งเดียว โดยรัฐสมาชิกที่รับตำแหน่งประธานนั้นจะทำหน้าที่เป็นประธานของ
(ก) การประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
(ข) คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
(ค) คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามคณะ
(ง) องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง ตามที่
เหมาะสม และ
(จ) คณะกรรมการผู้แทนถาวร
ข้อ 32: บทบาทของประธานอาเซียน
รัฐสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจะต้อง
(ก) ส่งเสริมและเพิ่มพูนผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียน รวมถึง
ความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแข็งขัน โดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน ฉันทามติ และความร่วมมือ
(ข) ทำให้แน่ใจว่ามีความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน
(ค) ทำให้แน่ใจว่ามีการตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลกระทบ ต่ออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงจัดให้มีคนกลางที่มีตำแหน่งน่าเชื่อถือและการจัดการอื่นเช่นว่า เพื่อแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้โดยทันที
(ง) เป็นตัวแทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน
ภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น และ
(จ) ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อื่นตามที่อาจได้รับมอบหมาย
ข้อ 33: พิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูต
อา เซียนและรัฐสมาชิกจะต้องยึดมั่นในพิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูตที่มีอยู่ใน การดำเนินกิจกรรมทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
ข้อ 34: ภาษาทำงานของอาเซียน
ภาษาทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ

หมวด 11
อัตลักษณ์และสัญลักษณ์

ข้อ 35: อัตลักษณ์ของอาเซียน
อา เซียนจะต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นเจ้าของในหมู่ ประชาชนของตน เพื่อให้บรรลุชะตา เป้าหมาย และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน
ข้อ 36: คำขวัญของอาเซียน
คำขวัญของอาเซียน คือ “วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว”
ข้อ 37: ธงอาเซียน
ธงอาเซียนจะเป็นตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก 3
ข้อ 38: ดวงตราอาเซียน
ดวงตราอาเซียนจะเป็นตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก 4
ข้อ 39: วันอาเซียน
ให้วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันอาเซียน
ข้อ 40: เพลงประจำอาเซียน
ให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียน

หมวด 12
ความสัมพันธ์ภายนอก

ข้อ 41: การดำเนินความสัมพันธ์ภายนอก
1. อา เซียนจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร และการเจรจา ความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน กับประเทศ องค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ
2. ความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนจะยึดมั่นในวัตถุประสงค์และหลักการที่วางไว้ในกฎบัตรนี้
3. อา เซียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนขั้นแรกในการจัดการภูมิภาคที่อาเซียนได้ริเริ่ม ขึ้น และธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาคและการ สร้างประชาคม
4. ใน การดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน รัฐสมาชิกจะประสานงานและพยายามพัฒนาท่าทีร่วมและดำเนินการร่วมกัน บนพื้นฐานของเอกภาพและความสามัคคี
5. แนว นโยบายยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนให้กำหนดโดยที่ประชุมสุด ยอดอาเซียนโดยการเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
6. ที่ ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะทำให้แน่ใจว่าความสัมพันธ์ภายนอกของอา เซียนดำเนินไปอย่างเสมอต้นเสมอปลายและเป็นไปในทางที่สอดคล้องกัน
7. อา เซียนสามารถทำความตกลงกับประเทศ หรือองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ กระบวนการทำความตกลงดังกล่าวให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยการ หารือกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียน
ข้อ 42: ผู้ประสานงานกับคู่เจรจา
1. ใน ฐานะผู้ประสานงานประเทศ ให้รัฐสมาชิกผลัดกันรับผิดชอบภาพรวมการประสานงานและส่งเสริมผลประโยชน์ของอา เซียนในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้อง องค์การและสถาบันระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอก นอกจากหน้าที่อื่นแล้ว ให้ผู้ประสานงานประเทศ
(ก) เป็นผู้แทนอาเซียน และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและ ความเสมอภาค โดยสอดคล้องกับหลักการของอาเซียน
(ข) เป็นประธานร่วมในการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนภายนอก และ
(ค) รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 43: คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศ
1. คณะ กรรมการอาเซียนในประเทศที่สามอาจตั้งขึ้นในประเทศที่มิใช่สมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตของรัฐสมาชิกอาเซียน คณะกรรมการในลักษณะเดียวกันอาจจัดตั้งขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์การ ระหว่างประเทศต่างๆ คณะกรรมการเช่นว่าจะต้องส่งเสริมผลประโยชน์และอัตลักษณ์ของอาเซียนในประเทศ และองค์การระหว่างประเทศเจ้าภาพ
2. ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกำหนดกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการเช่นว่า
ข้อ 44: สถานภาพของภาคีภายนอก
1. ใน การดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอาจมอบสถานภาพอย่างเป็นทางการให้แก่ภาคี ภายนอกในฐานะประเทศคู่เจรจา ประเทศคู่เจรจาเฉพาะด้าน หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ผู้สังเกตการณ์พิเศษ ผู้ได้รับเชิญ หรือสถานภาพอื่นที่อาจจัดตั้งขึ้นต่อไป
2. อา เซียนอาจเชิญภาคีภายนอกให้เข้าร่วมการประชุมหรือกิจกรรมความร่วมมือโดยมิ ต้องกำหนดให้สถานภาพอย่างเป็นทางการใดๆ ตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน
ข้อ 45: ความสัมพันธ์กับระบบสหประชาชาติ
และองค์การและสถาบันระหว่างประเทศอื่น
1. อาเซียนอาจขอสถานภาพที่เหมาะสมกับระบบสหประชาชาติ รวมทั้งกับองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
2. คณะ มนตรีประสานงานอาเซียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของอาเซียนใน องค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
ข้อ 46: การส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐที่มิใช่รัฐสมาชิกอาเซียนประจำอาเซียน
รัฐ ที่มิใช่สมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอาจ แต่งตั้งและส่งเอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการประจำอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งผู้แทน อย่างเป็นทางการเช่นว่า
หมวด 13
บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย
ข้อ 47: การลงนาม การให้สัตยาบัน การเก็บรักษา และการมีผลใช้บังคับ
1. กฎบัตรนี้จะต้องได้รับการลงนามโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
2. กฎบัตรนี้จะอยู่ใต้บังคับของการให้สัตยาบันจากรัฐสมาชิกอาเซียนทุกรัฐตามกระบวนการภายในของ แต่ละรัฐ
3. สัตยาบันสารจะต้องเก็บรักษาไว้กับเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะแจ้งให้รัฐสมาชิกทุกรัฐทราบถึงการส่งมอบสัตยาบันสารแต่ละฉบับโดยพลัน
4. กฎบัตรนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับที่สิบให้แก่เลขาธิการอาเซียน
ข้อ 48: การแก้ไข
1. รัฐสมาชิกใดๆ อาจเสนอข้อแก้ไขกฎบัตร
2. ข้อเสนอแก้ไขกฎบัตรจะต้องยื่นโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยฉันทามติต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
3. ข้อแก้ไขกฎบัตรที่ได้ตกลงกันโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะต้องได้รับการสัตยาบันจากรัฐสมาชิกทุกรัฐ ตามข้อ 47
4. ข้อแก้ไขใดๆ จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับสุดท้ายต่อเลขาธิการอาเซียน
ข้อ 49: อำนาจและหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน
นอก จากจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้ คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะเป็นผู้กำหนดอำนาจและหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอน การดำเนินงานและต้องทำให้แน่ใจว่าอำนาจหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนิน งานสอดคล้องกัน
ข้อ 50 การทบทวน
กฎบัตรนี้อาจได้รับการทบทวนเมื่อครบห้าปีหลังจากที่มีผลใช้บังคับหรือตามที่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
ข้อ 51 การตีความกฎบัตร
1. เมื่อ รัฐสมาชิกใดๆ ร้องขอ ให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนตีความกฎบัตรตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน ที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
2. ให้ระงับข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการตีความกฎบัตรตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในหมวด 8
3. หัวและชื่อที่ใช้ในแต่ละหมวดและในแต่ละข้อของกฎบัตรนี้มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการอ้างอิงเท่านั้น
ข้อ 52 ความต่อเนื่องทางกฎหมาย
1. สนธิ สัญญา อนุสัญญา ความตกลง ข้อตกลง ปฏิญญา พิธีสาร และตราสารอาเซียนอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก่อนการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อไป
2. ใน กรณีที่เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิกอาเซียน ภายใต้ตราสารดังกล่าวและกฎบัตรนี้ ให้ยึดถือกฎบัตรนี้เป็นสำคัญ
ข้อ 53 ต้นฉบับ
ให้ส่งมอบต้นฉบับภาษาอังกฤษของกฎบัตรนี้ที่ลงนามแล้วแก่เลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะจัดทำสำเนาที่ได้รับ การรับรองให้แก่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐ
ข้อ 54 การจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียน
ให้เลขาธิการอาเซียนจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียนกับสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ตามข้อ 102 วรรค 1 ของ กฎบัตรสหประชาชาติ
ข้อ 55 สินทรัพย์ของอาเซียน
ให้สินทรัพย์และกองทุนขององค์การอยู่ในนามของอาเซียน
ทำ ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2007

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนกว่า 40 ฉบับ

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอกรอบข้อตกลงที่จะไปลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำอา เซียนทั้งหมด 10 เรื่อง ให้กับสภาฯ พิจารณา เชื่อว่าสภาฯ จะผ่านการอนุมัติร่างข้อตกลงทั้งหมด เพื่อให้ไทยสามารถลงนามร่วมกับประเทศอาเซียนได้ เพราะหากไทยไม่สามารถลงนามได้ จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของไทย เนื่องจากไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

“กระทรวงฯ ได้ชี้แจงให้สภาฯ รับทราบถึงการไปจัดทำข้อตกลง ส่วนใหญ่ถามว่าไทยจะเสียเปรียบมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ จะมีทางเยียวยาอย่างไร” นายอลงกรณ์ กล่าว รมช.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า หากจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่างข้อตกลง จะทำให้ไทยล่าช้าและไม่สามารถลงนามทันการประชุมได้

สำหรับกรอบข้อตกลงทั้ง 10 เรื่อง 23 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ ข้อตกลงเอฟทีเออาเซียนเกาหลี (ในส่วนของไทย) เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เอฟทีเออาเซียน-จีน (ในส่วนการลงทุน) บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและอินโดนีเซียเรื่องน้ำตาล และข้อตกลงยอมรับร่วมด้านอาชีพ เช่น วิศวกรรม แพทย์

ทางด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอกรอบข้อตกลงว่าด้วยความมั่นคงปิโตรเลียม ซึ่งมีการแก้ไขกรอบข้อตกลงเดิมในประเด็นกรณีการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินกับ ประเทศสมาชิกที่ประสบกับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมัน จากเดิมกำหนดไว้ว่า ประเทศสมาชิกจะสามารถขอความช่วยเหลือจากประเทศผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าน้ำมันได้ จะต้องมีปริมาณน้ำมันที่ขาดแคลนในสัดส่วน 20% จากปริมาณน้ำมันปกติในประเทศ โดยจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นเหลือ 10% เท่านั้น
ทั้งนี้ หากใช้เงื่อนไขเดิมจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประเมินว่า หากน้ำมันในประเทศหายไป 20% ถือเป็นปัญหาร้ายแรงมากจนอาจถึงขั้นล่ม เพราะปัจจุบันหากขาดแคลนน้ำมันไปเพียง 1-2 วัน จะส่งผลกระทบต่อประเทศ ดังนั้นหากลดสัดส่วนลงมา 10% น่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสมที่สุด

อย่าง ไรก็ตาม ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับไทยคือ เป็นการหาเครื่องมือรองรับกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมัน โดยอาจขอความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกที่มีแหล่งน้ำมัน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันมีความผันผวน ประกอบกับมีปัจจัยทางด้านต่างประเทศที่อาจทำให้เกิดปัญหากับผู้ผลิตน้ำมัน รายใหญ่ในโลกได้ แต่หากกรอบข้อตกลงนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ก็จะทำให้เสียโอกาสกับการมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลน น้ำมันในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แม้จะมีแหล่งปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ก็ตาม ขณะที่นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะคณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การเจรจาอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ไม่มีผลกระทบในเชิงลบกับภาคเกษตรของไทย มีแต่ประโยชน์ โดยสาระสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ ไทยจะเสนอตัวให้เป็นที่ตั้งขององค์กรสำรองข้าว ตามโครงการสำรองข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยด้านอาหาร สำหรับภูมิภาคในกรณีเกิดภัยพิบัติหรืออดอยาก ซึ่งการตั้งองค์กรดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจรจาในการประชุมที่เชียงใหม่ใน ระดับรัฐมนตรีอาเซียนเมื่อปี 2551 ซึ่ง ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวมากที่สุด มีความเหมาะสมในการเป็นที่ตั้งองค์กรดังกล่าว ส่วนงบประมาณในการดำเนินการจะมาจากการเก็บค่าสมาชิกของแต่ละประเทศตามความ สามารถของแต่ละประเทศ ร่วมทั้งเงินบริจาคจากองค์กรโลก เช่น เอฟเอโอ หรือยูเอ็น สำหรับหน้าที่ขององค์กรคือ เมื่อเกิดวิกฤตหน่วยงานนี้จะเข้ามาดูแลในด้านการจัดหาข้าวจำหน่ายในราคาถูก หรือแจกฟรี หรือจำหน่ายโดยการสินเชื่อระยะยาว ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของอาเซียน เพราะช่วยกันมาตลอด แต่เนื่องจากเมื่อมีวิกฤตอาหารเกิดขึ้น ที่ประชุมอาเซียนก็เห็นว่า ควรจะมีการนำเรื่องทั้งหมดมาจัดระบบกันใหม่ นอกจากนี้ จะมีการร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร จะส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้มาก การส่งเสริมการวิจัย การพัฒนานวัตกรรมใหม่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตอาหาร หรือการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ไม่ได้ทำจากข้าว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มีผลผูกพันงบประมาณหรือผูกพันให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายด้าน การเกษตรแต่อย่างใด \
http://www.siam2you.com/index.php?option=com_fireboard&Itemid=57&func=view&id=775&catid=18

งบประมาณกลางปี 52

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 จำนวน 116,700 ล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญ ดังนี้
1.โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาฟรี 15 ปี วงเงิน 19,000 ล้านบาท
2.โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ วงเงิน 18,970.324 ล้านบาท
3.โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ไม่รวมกับงบเอสเอ็มแอลเดิมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่จะออกเร็วๆนี้ และงบที่เหลืออีก 6 พันล้านบาท)วงเงิน 15,200 ล้านบาท
4.โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน วงเงิน 11,409.13 ล้านบาท โดยรายละเอียดทั้งหมดจะสรุป 20 ม.ค.นี้ เบื้องต้น ค่าน้ำจะช่วยเหลือโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 30 ลบ.เมตรต่อเดือน ค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน รถเมล์ รถไฟยังเหมือนเดิม
5.โครงการหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ วงเงินไม่เกิน 9,000 ล้านบาท
6.โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสังคมในชุมชน วงเงิน 6,900 ล้านบาท ได้อนุมัติงบกลางปีฉุกเฉิน 120 ล้านบาท เพื่อเริ่มนำร่องในระยะแรก
7.โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) วงเงิน 3,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลข อสม.ขณะนี้มีประมาณ 8 แสนคน
8.โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร วงเงิน 2,000 ล้านบาท
9.โครงการก่อสร้างภายในหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน (โครงการถนนไร้ฝุ่น) วงเงิน 1,500 ล้านบาท
10.โครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน วงเงิน 1,000 ล้านบาท
11.โครงการสนับสนุนการท่องเที่ยว วงเงิน 1,000 ล้านบาท
12.โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการจัดการน้ำ วงเงิน 760 ล้านบาท
13.โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและเอสเอ็มอี วงเงิน 500 ล้านบาท
14.โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ วงเงิน 325 ล้านบาท
15.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจชั้นประทวน วงเงิน 1,808 ล้านบาท
16.โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย วงเงิน 1,095 ล้านบาท
17.เงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน วงเงิน 4,091.49 ล้านบาท
18.การตั้งงบรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง วงเงิน 19,139.48 ล้านบาท

แนวทางภาษีที่ดินและมรดก

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ โฆษกกระทรวงการคลัง (นายสมชัย สัจจพงษ์) กล่าวว่าในเร็วๆ นี้ สศค.จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง และหากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ภายใน ปีนี้ แต่การบังคับใช้กฎหมายจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี เนื่องจากมีขั้นตอนในการดำเนินการ รวมถึงต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หลักการเบื้องต้นสำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดไว้ 3 ประเภททรัพย์สิน คือ 1. ที่ดินในเชิงพาณิชย์ กำหนดเพดานจัดเก็บภาษีอัตรา 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน 2. ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย อัตรา 0.1% 3. ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 0.05% โดยจะมีคณะกรรมการกลางประเมินอัตราภาษี โดยปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้ประเมินอัตราการเก็บภาษีทุก 4 ปี ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมาทดแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งยังไม่สามารถจัดเก็บได้เต็มที่ ฉะนั้นจึงไม่กระทบต่อรายได้ของท้องถิ่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัด เก็บภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ปีละ 19,000 ล้านบาท และยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่มาก แต่จะมีผลเฉพาะผู้ที่มีความสามารถในการเสียภาษี เพราะการเก็บภาษีชนิดนี้จะคิดจากฐานราคาทรัพย์สินเป็นหลัก

ส่วนการเก็บภาษีมรดกนั้น ขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาอาจยังไม่สามารถนำมาใช้ได้พร้อมกับภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากยังมีฝ่ายคัดค้านไม่สนับสนุนการเก็บภาษีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พร้อมที่จะทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและ ประชาชน
http://www.mof.go.th/Foc_news/foc.php

คนชายขอบ

คนชายขอบคือใคร ความหมายของคนชายขอบ