วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คอลัมน์ ดอกไม้หลายสี 1 ปีหมวดตี้..ไฟใต้ยังไม่(19 มิถุนายน 2552 )

ท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองประเทศไทย..หลังการลงมติผ่านการพิจารณา พรบ.งบประมาณ ๕๒ ผ่านไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน.
ทว่า คล้ายไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนักกับภาพที่ปรากฎสำหรับ "นักการเมืองไทย" ในสายตา..ประชาชนคนดูอยู่หน้าจอทีวี..ที่เฝ้ามองดูพฤติกรรมการทำหน้าที่ของเหล่าบรรดา "ผู้แทนราษฎร" ทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล ในสภา
ข่าวโทรทัศน์ ในแต่ละวันยังคงมีการรายงานสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้..ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน..โดยเฉพาะปฏิบัติการ "คาร์บอมบ์" และการยิงถล่มมัสยิดมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมาก และการยิงพระสงฆ์ขณะบิณฑบาตร ของโจรก่อการร้าย..ทีแม้ว่ารัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีจะให้ "รองนายกสุเทพ เทือกสุบรรณ""พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รมว.กลาโหม และ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" ผบ.ทบ.ลงพื้นที่เพื่อสั่งการเข้มข้นในการจัดการกับปัญหา แต่ก็ยังคงมีเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้เกรงกลัวต่อ"อำนาจรัฐ"ฝ่ายทหาร หรือแม้กระทั่งรัฐบาลที่มีฐานที่มั่นทางการเมืองอยู่ในพื้นที่ภาคใต้อย่าง "พรรคประชาธิปัตย์"

(๑๙มิ.ย.)มีรายงานข่าวชิ้นหนึ่งจากนักข่าวเนชั่นทีวี ที่ไปสัมภาษณ์ "นางพิมพลักษณ์ บุญลือ" มารดาของ "ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ" หรือ “หมวดตี้” ผู้กองหนุ่มอนาคตไกล ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การถูกโจรใต้ลอบซุ่มโจมตีชุดลาดตะเวน เมื่อ ๑ ปีก่อน(๒๐มิ.ย.๕๑)อันเป็นวันเกิดครบรอบ ๒๔ ปีของเขา และแถมยังเป็นวันเกิดของคุณแม่ของเขาด้วย .. "คุณแม่พิมพลักษณ์" บอกว่ายังคงคิดถึงและเก็บสมบัติของใช้ลูกชายที่เสียชีวิตไว้ทุกชิ้น พร้อมกับฝากความหวังไปยังฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการคลี่คลายสถานการณ์ไฟใต้ ขณะเดียวกันก็วิงวอนไปยังผู้ก่อการความไม่สงบ ให้หยุดก่อกรรมทำเข็ญต่อชีวิตผู้คน...แม้จะรู้ว่าคำวิงวอนของเธอคงไม่เกิดกับโจรใต้ก็ตาม

"ดอกไม้หลายสี" ทบทวนความทรงจำ..ย้อนหลัง กลับไปในวันดังกล่าว(๒๐มิ.ย.๕๒) และไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ ก็พบว่า ชีวิตของชายชาตินักรบนาม"หมวดตี้"ที่ดับสูญไปเมื่อ ๑ ปีก่อน ซึ่งห้วงเวลานั้นเราพูดถึงเขาด้วยความอาลัยและขอบคุณเขาในความกล้าหาญ เสียสละ เพื่อประเทศชาติ ..โดย "ดอกไม้หลายสี" จำได้เวลานั้นว่าได้เขียนถึงเรื่องของ "หมวดตี้" เป็นคนแรกๆในวันเกิดเหตุ..๒๐ มิ.ย.๕๑ ห้วงสายๆเนื่องเพราะไปเห็นคนมาโพสไว้ในเวปบอร์ดของ "พันทิพ" และรู้สึกถึงความพิเศษของ "หมวดตี้" ที่เป็นคนที่มี "คนรู้จักเยอะมาก" โดยเฉพาะวัยรุ่นเยาวชน อันสืบเนื่องจากที่เขาเป็นคนชอบ "เขียน" ไดอารี่ที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต..และเขียนมานานนับปี ถึงการใช้ชีวิตทั้งในสนามรบ และ นับตั้งแต่อยู่ในรั้วโรงเรียนตำรวจ และยิ่งเมื่อ "ดอกไม้หลายสี" เข้าไปอ่านไดอารี่สุดท้ายของเขาที่เขียนไว้ตอนเช้าก่อนออกปฏิบัติงานในพื้นที่และเสียชีวิต..ก็ยิ่งรู้สึกตื้นตันกับ "ความดี" ความกล้าหาญ และเสียสละ ของ นายตำรวจหนุ่มท่านนี้..ประจวบกับยิ่งเห็นถึงความบังเอิญหลายประการที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนๆหนึ่ง นั่นคือ วันตายตรงกับวันเกิดและวันเกิดตรงกับวันเกิดของแม่..ก็ยิ่งรู้สึกอยากจะเผยแพร่เรื่องนี้ออกไป ซึ่งผลจากการเขียนเรื่องนี้ทำให้มีคนเข้ามาอ่านนับหมื่นคน และจำนวนมากทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ได้เข้าไปไว้อาลัย "หมวดตี้" ในไดอารี่ออนไลน์ของเขาหลายหมื่นคน..ซึ่ง ณ เวลานั้น "ดอกไม้หลายสี" ยังคุยกับหลายๆคนว่าน่าจะมีการนำไดอารี่ของหมวดตี้มาทำหนังสือเพราะน่าสนใจ..(ต่อมาก็มีคนนำมาพิมพ์เป็นหนังสือจริงๆ)

ด้วยความที่สถานการณ์ใต้ยังไม่มีอะไรดีขึ้น..โดยยังคงเกิดความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า..และเพื่อเป็นการรำลึกถึง "หมวดตี้" อีกครั้งครา "ดอกไม้หลายสี" ขอนำเอาข้อเขียนที่เคยเขียนและนำเสนอไว้ในคอลัมน์นี้(๒๐มิ.ย.๕๑) มานำเสนออีกครั้งด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้เราทุกฝ่ายได้ทบทวนบางสิ่งบางอย่าง...
------
"หมวดตี้" ..ผู้กล้า
ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์ "ม็อบ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พธม.)..บุกทำเนียบ(๒๐มิ.ย.๕๑)เพื่อเหตุผล จำเพาะอันมี "ผลประโยชน์" เรื่อง "อำนาจ" ทางการเมืองเป็นปฐมเหตุนำมาซึ่งการก่อ ร่างสร้างสถานการณ์ไปสู่ "วิธีการไม่ปกติ" ทั้งหลายของบรรดา "แกนนำ" หรือผู้ " อยู่เบื้องหลัง"

กว่านี้......ข่าว เหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจตะเวนชายแดนชุดพลร่มพิเศษ 01 ของฐานปฏิบัติการ ตชด.มว.รพศ.1 บ้านสันติ 1 ว่า ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ลอบซุ่มโจมตี บนถนนสายเขื่อนบางลางฟสันติ 1 หมู่ที่ 2 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา ขณะออกลาดตระเวนเส้นทาง และปะทะกันเป็นเวลากว่า ๑๐ นาที เป็นเหตุใ ห้ "ร.ต.ต.กิตติคุณ บุญลือ" รอง ผบ.ร้อย ตชด.หน่วยเฉพาะกิจ หน่วยรบพิเศษที่ 1 ซึ่งเป็น "หัวหน้าชุด" เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และมีจนท.บาดเจ็บอีก ๔ นาย..
ข่าว นี้จะ..เป็นข่าวที่น่าสนใจกินใจ..และน่าคิด สำหรับใครต่อใคร..ในบ้านเมือง ที่บอกว่าเป็น "ผู้กล้า" (แต่ปาก)บนเวที..ทั้งหลายไม่น้อยหากว่าใครได้ทราบถึง..ปรากฎการณ์ ก่อนหน้าที่ "ร.ต.ต.กิตติคุณ บุญลือ" หรือ "หมวดตี้" นาย ตำรวจหนุ่มอนาคตไกลคนหนึ่ง วัย ๒๔ ปี จะถูกคนร้ายลอบซุ่มโจมตีจนเสียชีวิต..ที่จากช่วงสายจรดค่ำคืนศพของเขายังไม่ สามารถนำออกมาได้จากที่เกิดเหตุการปะทะ..
ที่ ว่าน่าสนใจ..กินใจ..ที่ทำให้ต้องมาเขียนถึง "หมวดตี้" ท่านนี้..ไม่แต่เฉพาะความที่เขาเป็น "วีรชน-ผู้กล้า-เสียสละ" เพื่อ "ชาติ-แผ่นดิน" ของจริง..หาใช่ "ผู้กล้า" ที่มักอวดอ้าง "วีรกรรม" อันมีเบื้องหลัง...ทั้งหลายที่กำลังทำการ "แสดง" ให้เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้..ที่ว่า "กินใจ" เพราะ..ก่อนเสียชีวิตของ "หมวดตี้" ท่านนี้..มีอะไรหลายอย่างที่เขาบันทึกไว้ก่อนหน้า ไม่ถึงชั่วโมงใน "ไดอารี่ออนไลน์" ที่ทำให้หลายคนต้อง "น้ำตาซึม" ..เมื่อได้อ่านมันทั้งในขณะที่ยังไม่ทราบ และทราบ ภายหลังว่า เขาได้เสียชีวิตลงไปแล้ว....

ใน ห้องกระทู้ราชดำเนิน(๒๐มิ.ย.๕๑)ที่เต็มไปด้วยกระทู้ความเห็น ทางการเมืองอันเชี่ยวกรากไปด้วยเสียงก่นด่า..ชื่มชม และตอบโต้ระหว่างกัน อันเกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์วันเผด็จศึกของ "พันธมิตร" ที่ ตีฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจนถึงริมรั้วทำเนียบรัฐบาลจนสำเร็จ..มี กระทู้ชิ้นหนึ่งที่ไม่สะดุดความสนใจพราะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง.... ที่ตั้งหัวกระทู้ว่า "ขอไว้อาลัยให้กับการจากไปด้วยหน้าที่ของตำรวจไทยคนนึง " ..โดยบอกเล่าถึงเหตุการณ์ข้างต้น..และระบุตอนท้ายว่า ผู้หมวดหนุ่ม ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้คือ.. " ร.ต.ต.กิตติคุณ บุญลือ " เจ้าของไดอารี่ออนไลน์ฉบับหนึ่งhttp://polize.diaryis.com" ที่ จากไปในวันเกิดของเค้าและยังเป็นวันเกิดของคุณแม่เค้าด้วย จากการกระทำของพวกโจรใต้..ขอไว้อาลัยแต่ตำรวจที่มีความมุ่งมั่นคนนึงที่จะปก ป้องประเทศของเราไม่มีคำพูดใดๆดีกว่าคำว่า "น้องทำดีที่สุดแล้วนะ" ......(ขออภัย หากตั้งกระทู้ผิดห้อง เพียงแต่เห็นว่า นี่ก็เป็นผลจากสาเหตุทางการณ์เมืองเช่นกันค่ะ) จากคุณ : Extremely Chocolate

เมื่อลองคลิ๊กเข้าไปใน ไดอารี่ฉบับนี้..อดไม่ได้ที่จะรู้สึก..อึ้ง..และ "กินใจ" ..โดยเฉพาะเมื่ออ่านไดอารี่ฉบับสุดท้ายจากจำนวนบันทึก 431 วัน(จากธันวาคม๔๘-มิ.ย.๕๑)ที่เขียนไว้ในวันสุดท้ายของชีวิตของ "ผู้หมวด" ... ซึ่งเจ้าตัวไม่มีโอกาสรู้เลยว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าหลังการบันทึก ไดอารี่..เขาจะต้องทอดกายลงบนกับผืนแผ่นดินที่กำลังลุกเป็นไฟ..ใน๓จังหวัด ชายแดนภาคใต้..ในขณะที่ผู้คนชั้นนำ..ที่กรุงเทพฯยังคงแก่งแย่งช่วงชิง " อำนาจ" กันอย่างเมามันส์...โดยเอาประชาชนมาเป็น "ตัวประกัน" ...

บท บันทึกสุดท้ายของ "หมวดตี้" ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า "ครั้งแรก" ซึ่งขึ้นต้นว่า " ก็ มั น ไ ม่ เ ค ย นิ " ..และ "วันนี้อยู่ดูโลกให้โสภิณ พรุ่งนี้ชีวินสิ้น ไม่รู้...วันตาย..." ...ราวกับจะเป็นลางบอกลา..เพื่อนๆมิตรรักแฟนเพลง..ในวันครบรอบอายุ ๒๔ ปี ของเขา ที่ได้มอบบทเพลง "อิ่มอุ่น" ให้กับ "แม่" ของ เขาที่อยู่ห่างไกลจากเขานับพันกิโล ณ จ.ลพบุรี..พร้อมๆกับคำขอบคุณแม่(ซึ่งเกิดในวันเดียวกันกับเขา)..ที่ทำให้เขา เกิดขึ้นมาลืมตาดูโลกในวันนี้(๒๐มิ.ย.)..ด้วยข้อความสื่อสารถึงแม่ที่ว่า

" แม่จ๋า... วันเกิดลูกไม่ได้ไปฉลองที่ไหนจริง ๆ นะแม่แถวนี้ไม่มีที่ให้ฉลองอะ แค่ลูกรอดกลับมาได้ก็พอใจแระ ...เดี๋ยวรอกลับไปฉลองกับเด็จแม่ที่บ้านเรา เนอะ ๆ...ไม่ได้กลับไปหาเด็จแม่นานแล้วด้วย คิดถึ้งงง คิดถึงว่าจะไปหาเด็จแม่.... ไปขอตังค์ 55+"

" วันเกิดเด็จแม่ เด็จลูกก็ขอให้เด็จแม่แข็งแรงเน้อ...อยู่กะลูกไปนาน ๆ ให้ถึงวันลูกติดนายพลเลยนะแม่นะ...และก็..ขอให้เด็จแม่มีลูกสะใภ้คนโตสวย ๆน่ารัก ๆ นิสัยดี ๆ...(อันนี้ออกแนวหวังผลกะตัวเอง 55+)"

พร้อม กันนั้น "หมวดตี้" ยังแจกเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ใครต่อใครส่งSMSไปอวยพรวันเกิด..แม้ในขณะที่บันทึกเขาจะบอกว่า "งานเข้าแต่เช้า" ...เพราะมีเหตุต้องคุมชุดลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่..

ที่สำคัญ และอดรู้สึกตื้นตัน..คือในประโยคสุดท้ายของบทบันทึกสุดท้ายของเขา..ที่ว่า "ขอให้โลกสงบสุข..."

ที่ ว่าตื้นตันเพราะจากที่เข้าไปอ่านย้อนหลังไดอารี่ของเขา..จะพบว่าเป็นนาย ตำรวจหนุ่มที่มีอุดมการณ์อย่างแรงกล้าในการเป็น "ตชด." ที่ลมหายใจเข้าออกมีแต่คำว่าประเทศชาติประชาชน..จริงๆ...(จนน่าที่จะให้ บรรดาผู้ที่ปากอ้างว่า "รักชาติ" ทั้งหลายได้เข้าไปอ่าน..จริงๆเพราะหมวดตี้แกก็เคยพูดถึงคนพวกนี้เช่นกัน...)

แต่ ที่ว่ารู้สึก..อึ้ง และขนลุก ก็คือ ในขณะที่หลายคนปฏิบัติภารกิจตอนเช้าจรดสาย..และในขณะที่เพื่อนๆของ "หมวดตี้" หลาย คนส่งSMS และ โพสลงในไดอารี่ของเขา อวยพรวันเกิดให้เขาปลอดภัย..เป็นเวลาเดียวกับที่เขากำลังประทับปืนยิงต่อสู้ กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างดุเดือดกระทั่งถูกยิงเสียชีวิต..โดยผู้สื่อ ข่าวINN จ.ยะลา รายงานข่าวนี้เข้ามาเมื่อเวลา ๐๙.๒๑ น.ว่าได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างชุดลาดตระเวนของ "หมวดตี้" กับคนร้าย..และรายงานต่อมาเมื่อเวลา๑๑.๒๓น.ว่า "หมวดตี้" ถูกยิงเสียชีวิตจากการปะทะครั้งนี้ที่มีผู้บาดเจ็บ ๔ นาย

ใน ขณะที่เมื่อลองเข้าไปดูการโพสของเพื่อนๆของเขาในช่วงเวลา ใกล้ๆกัน..จะพบว่าเพื่อนเริ่มรู้สึกผิดปกติ..และรับรู้ด้วยลางสังหรณ์...... กระทั่งรับรู้ว่าเพื่อนของพวกเขาได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ..ที่ทำให้จากคำ อวยพรวันเกิดกลายเป็น..คำอาลัยรัก..จากเพื่อน..
.....
พิม เค้าจะร้องไห้อะ

ไม่ว่าตอนนี้ตี้จะอยู่ที่ไหนขอให้ตี้มีความ
สุขตลอดไปเช่นกันนะ

คิดถึงแกเสมอและตลอดไปเหมือนกัน
p a t t y
20 มิ.ย. 2551 เวลา 10:39 น.
.....
ตี้ แกอยู่ไหน
อย่าเล่นอย่างงี้
มาตอบชั้นเร็ว ๆๆๆๆ
JoJo
20 มิ.ย. 2551 เวลา 10:40 น.
......
พี่ๆครายได้ข่าวพี่ตี้บ้าง
[ นู๋แตง ] 20 มิ.ย. 2551 เวลา 10:44 น.
......
ตอนนี้ตี้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วค่ะ
p a t t y
20 มิ.ย. 2551 เวลา 10:53 น.
.......
ไม่จิงใช่ไหม พี่ยังรออยู่นะตี้
Fly By
20 มิ.ย. 2551 เวลา 10:56 น.
........
เป็นไงบ้างหนอ

มีนมาเฟีย
20 มิ.ย. 2551 เวลา 10:58 น.
.............
คิดถึงแกว่ะ
ต่อไปใครจะมาอัพไดให้อ่านวะ
ภูมิใจที่มีแกเป็นเพื่อนตลอดมานะ
ขอโทษที่ชอบบ่น ชอบด่าแกนะ
ต่อไปชั้นจะบ่นให้ใครฟังวะ
แล้วที่นัดกันจะไปเกาหลีอ่ะ ช้านอุตส่าห์เก็บเงินนะแก
อย่ามาเบี้ยวกันแบบนี้นะ ทำไมเป็นแบบนี้วะแก ทำไม ทำไม

Sasipim 20 มิ.ย. 2551 เวลา 11:01 น.
............
ไม่คิดเลยว่าวันที่เราจะได้เจอกัน
จะเป็นวันที่ฉันไปรับแกกลับหัวหิน
และแล้ววันนี้แกก็เป็นเหมือนพี่แคน
แล้วนะ ถึงแม้มันจะเร็วไปก็ตาม แก
ก็คงภูมิใจ
แก .. กลับมาเหอะ ขอร้องหร่ะ

p a t t y
20 มิ.ย. 2551 เวลา 11:03 น.
...........
ขอแสดงความเสียใจอย่างมาก หมวดตี้ ถูกซุ่มโจมตี หมวดเสียชีวิต
[ กระจ้อน ] 20 มิ.ย. 2551 เวลา 11:04 น.
.............
ตี้.......ชั้นยังรับไม่ได้หว่ะ
ชั้นเพิ่งจะเข้ามาอวยพรวันเกิดแก
เพิ่งคุยกันว่ารอบนี้แกไป 15 วันแล้วกลับ แกบอกรอบนี้แกได้กลับเร็ว
ชั้นเองยังเสียใจที่รอบนี้ไม่ได้เจอแกเลย
แล้วก็ไม่นึกว่า รอบที่แกจะกลับมานี้ แกจะต้องเป็นแบบนี้
JoJo
20 มิ.ย. 2551 เวลา 11:06 น.
..............
Happy birthday ตี้เพื่อนรักๆๆๆๆ......
ครั้งสุดท้ายถึงเพื่อนจะไม่รู้อีกแล้วว่าเพื่อนคนนี้รักแกมากนะ
***ถึงเพื่อน พี่ น้อง ที่รู้จักตี้
***(ข่าววงใน)เมื่อเช้าประมาณ9 โมงกว่าๆ ตี้จากทุกคนไปแล้วววววว
Mylovestory
20 มิ.ย. 2551 เวลา 11:06 น.
.............
เหตุเกิดที่ หลังเขื่อนบางลาง เมื่อเวลาประมาณ 08.45 น.
[ กระจ้อน ] 20 มิ.ย. 2551 เวลา 11:06 น.
..............

นี่ เป็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ ของ "ผู้หมวดหนุ่ม ตชด." ตัวเล็กๆคนหนึ่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ..ที่มีความรักหวงแหนในผืนแผ่นดิน ชาติมาตุภูมิ รักประชาชน..รักใน "แม่" ....ที่อยากหยิบนำมาบันทึกเพราะเกรงว่าจะเป็นเพียงแค่ลมที่พัดผ่านไป..เพราะ ถูกข่าวร้อน ปฏิบัติการไล่รัฐบาลของ "พันธมิตร" กลบ..ทั้งที่..เนื้อหาสาระ...หากเอาเข้าจริง..ข่าวของ "ผู้หมวดตี้" ผู้กล้า..คนนี้..อาจจะมี "สาระ" กว่า..เรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น ณ ใจกลางกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน(๒๐มิ.ย.)ก็ได้...!!!

ขอบมอบดอกไม้..คารวะต่อดวงวิญญาน.. "หมวดตี้" ..ผู้กล้า..ผู้มีจิตวิญญานในความเป็น ตชด.ผู้มีความ "รักชาติ" อย่างแท้จริง..!!

ที่มา : คอลัมน์ ดอกไม้หลายสี http://www.innnews.co.th : 20 มิ.ย. 2552
--------
หมายเหตุ : สำหรับวันครบรอบ ๑ ปี ของการเสียชีวิตของ "หมวดตี้""คุณแม่พิมพลักษณ์ บุญลือ" จะจัดงานทำบุญขึ้นในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ นี้ ณ บ้านของคุณแม่ ที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
----------



http://www.innnews.co.th/rose.php?nid=176933

ว่าด้วยโพลกับการขออภัยโทษให้ทักษิณ

ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์

ขอเรียกร้องให้สำนักโพลต่าง ๆ กำหนดคำถามต่อสังคมในทางสร้างสรรค์ไม่ใช่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมมากขึ้นไปอีก ในประการสำคัญอันเป็นหลักสากลอยู่แล้ว โพล (poll) คือ การสำรวจความคิดเห็นของผู้คนบางกลุ่มจำนวนหนึ่งที่อาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ และโดยเจตนารมณ์ (intention) ของโพลที่เกิดขึ้น คือ การมุ่งสร้างสรรค์ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเรื่องหนึ่ง ๆ แก่องค์กรและสังคม

การสำรวจความคิดเห็นในรูปแบบของโพลจะไม่โยงใยไปถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด อันจะสร้างความแตกแยกแก่สังคม เช่น กรณีการเมืองการปกครอง ความขัดแย้งในเรื่องตัวบทกฎหมาย หรืออย่างกรณีที่เป็นประเด็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ

เรื่องเช่นนี้ อาศัยความรอบรู้และประสบการณ์อย่างกว้างขวางในการมีส่วนร่วมในการสำรวจความคิดเห็นในรูปแบบของโพล อาจต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักนิติศาสตร์ แม้แต่หลักจริยธรรมทางการเมืองการปกครองแก่บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแสดงข้อคิดเห็น หาใช่เป็นการสำรวจตรวจสอบทัศนคติในเรื่องซึ่งมีความละเอียดอ่อนและมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมจากบุคคลใด ๆ ก็ได้ตามอำเภอใจ

กรณีการขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักการเมือง มิใช่เป็นเรื่องของราชประชาสมาสัย เพราะตามคำนิยามมีความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนทั้งมวลกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในเรื่องหนึ่ง ๆ ซึ่งในกรณีนี้แม้แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในทางตรงข้าม กลับกลายเป็นความแตกแยกมากมายยิ่งขึ้น

ทุกภาคส่วนจึงต้องมีความระมัดระวัง และไม่ผลีผลามแสดงความคิดเห็นอันเป็นการขัดแย้งต่อหลักจารีตประเพณีและกระบวนวิธีทางกฎหมายที่บัญญัติไว้ ได้แก่ การพิจารณาตามมาตรา 259 – 261 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2548

และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงสถาบันฯ ในกรอบของแนวทางการพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เพราะทั้งหลายทั้งปวง ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำ / ทัณฑสถาน กระทรวงยุติธรรม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศสำหรับกรณีผู้ต้องโทษชาวต่างชาติ ย่อมมีส่วนรับผิดชอบในการพิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามครรลองครองธรรมของกระบวนวิธีทางกฎหมาย

ในทางจารีตประเพณีของชาติไทย บุคคลจะไม่กล่าวพาดพิงถึงพระราชอำนาจในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องโทษในทุก ๆ กรณี


http://www.innnews.co.th/ideacorner.php?nid=178837

เงินเฟ้อติดลบต่ำสุดรอบ10ปีพลิ้วยังไม่'ฝืด'

"พาณิชย์" เปิดตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ยังติดลบ 4% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ต่ำสุดรอบ 10 ปีตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ท่องคาถาไม่เข้าขั้น "เงินฝืด" หอการค้าฯ แนะจับตา เผยส่งผลกำลังซื้อมีปัญหาในช่วงน้ำมันโลกขาขึ้น กมธ.แขวนงบธงฟ้า เหตุไร้แผนไม่มีความชัดเจน
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมิถุนายน 2552 ว่าเท่ากับ 104.7 โดยเมื่อเทียบเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาสูงขึ้น 0.4% และเทียบเดือน มิ.ย.ปีก่อน ลดลง 4.0% ทำให้เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลง 1.6%
โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนที่ติดลบ 4.0% เป็นอัตราลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงถึง 9.4% อาทิ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลง 17.5% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนาลดลง 10% หมวดเคหสถานลดลง 5% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลง 3.8% ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 3.8% ส่วนสาเหตุที่ดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะ 6 เดือน ที่ลดลง 1.6% มาจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 7.6% เช่นกัน
"เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ยังติดลบสูงถึง 4.0% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และแม้จะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่ในทางเทคนิคยังไม่เป็นเงินฝืด เพราะทางทฤษฎีนอกจากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 6 เดือนแล้ว ราคาสินค้าทุกชนิดต้องติดลบทั้งหมดด้วย แต่ขณะนี้สินค้าหลายรายการยังเป็นบวก จึงเรียกว่า Disinflation ไม่ใช่ Deflation อย่างไรก็ตาม หากเป็นเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน จึงจะน่าเป็นห่วง" นายศิริพลกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ย 0-0.5% แม้เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนติดลบ 1.6% แต่ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันที่มีทิศทางปรับตัวขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาสินค้าจะไม่ลดต่ำลงมาก โดยเงินเฟ้อตั้งแต่ ส.ค.จะค่อยๆ ปรับตัวเป็นบวก
ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังเห็นทิศทางเงินเฟ้อลดลง สะท้อนถึงการลดลงของความต้องการซื้อในเดือนที่ผ่านมาที่ยังติดลบ ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐและเอกชนที่ยังไม่มีในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการลงทุนต่างๆ ยังไม่เกิดขึ้นจากความไม่เชื่อมั่น ประกอบกับปัญหาการส่งออกทำให้กำลังซื้อต่อเนื่องหดตัวตาม รวมทั้งปัจจัยราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงทำให้แรงงานในภาคเกษตรที่มีสัดส่วนมากถึง 40% กำลังซื้อลดลงตาม
"เดิมคิดว่าราคาน้ำมันแพงขึ้นจะทำให้ต้นทุนผลิตสูงขึ้น แต่เมื่อผลเงินเฟ้อออกมาเช่นนี้ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ยิ่งทำให้กำลังซื้อประชาชนลดลง" ผศ.ดร.เสาวณีย์กล่าว และว่า ต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจากนี้ ว่าจะติดลบต่อเนื่องเกิน 6 เดือนหรือไม่ เพราะหลักการเกิดเงินฝืดต้องเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบมากกว่า 6 เดือน
เธอระบุว่า สัญญาณเดือนหน้าแม้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็มีปัจจัยที่เป็นบวกทั้งความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ดีขึ้นจากการเผยแพร่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และแผนการใช้งบประมาณของรัฐบาลที่จะช่วยเรื่องการลงทุนภาครัฐ ซึ่งหากทั้งสองส่วนดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น ราคาสินค้าไม่ลดลงไปมากกว่านี้ ความเชื่อมั่นการใช้จ่ายจะดีขึ้น การติดลบของเงินเฟ้ออาจคลี่คลายลงได้
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นประธานที่ประชุม โดยได้พิจารณางบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง กมธ.ส่วนใหญ่ตั้งข้อซักถามถึงงบที่ตั้งไว้สำหรับดูแลราคาสินค้า โดยเฉพาะโครงการธงฟ้า ว่าลงในจังหวัดใดบ้างอย่างไร ใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา รวมถึงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรต่างๆ
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน ชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่ฟันธงว่าระหว่างประกันราคากับการค้ำประกันอะไรจะดีกว่ากัน เหมือนกับภริยากับน้องภริยาใครจะดีกว่า เพราะแรกๆ ภริยาก็ดีกว่า แต่ตอนหลังน้องภริยาคงดีกว่าแน่
การชี้แจงของนายยรรยง ทำให้นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตำหนิทันทีว่า ไม่ชอบเลยที่เอาเพศแม่มาเทียบเล่น ทั้งที่สังคมกำลังมีปัญหานี้อยู่ จึงไม่ทราบว่าผู้พูดอยู่ในฐานะอะไรไม่ทราบที่มาเปรียบเปรยภริยาและน้องภริยาว่าเป็นคนคนเดียวกัน
ในขณะที่นางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา กมธ.จากพรรคเพื่อไทย ได้ขอแขวนงบธงฟ้า 85 ล้านบาทก่อน โดยให้เหตุผลว่าไม่มีการเสนอแผนงานว่าจะจัดในที่ใด และอย่างไรบ้าง
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี กมธ.พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ซักถามถึงตัวเลขการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีตัวเลขเกินจริงจนทำให้มีการลักลอบนำข้าวโพดจากต่างประเทศเข้ามาแฝงเพื่อสวมสิทธิ์
นายยรรยงชี้แจงว่า กรมการค้าภายในได้จำกัดการขนย้ายข้าวโพดในปริมาณที่เกิน 1 พันกิโลกรัมจะเข้า-ออกประเทศต้องได้รับการอนุญาตก่อนเท่านั้น ซึ่งก็ได้ผลในการสกัดกั้นพอสมควร แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการนำข้าวโพดจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์จริง ซึ่งรัฐกำลังพยายามสกัดกั้นอยู่
ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้แขวนงบโครงการธงฟ้าไปก่อน เพื่อให้คณะอนุ กมธ.ไปพิจารณารายละเอียดเพื่อให้กรมการค้าภายในนำเสนอแผนงานที่ชัดเจนก่อน
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาต่อในส่วนของงบประมาณกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ซักถามว่าในแต่ละปีต้องเสียค่าทรัพย์สินทางปัญญาให้กับต่างชาติเป็นเงินจำนวนเท่าใด

นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงว่า ในปี 2550 มีรายรับจากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา 1,800 ล้านบาท แต่จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ออกไป 79,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลอยู่ 70,000 ล้านบาท.


http://www.thaipost.net/news/020709/7142

ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ (ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ chodechai@fpo.go.th)

สัญญาณชี้วัดเศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นชัดว่าจุดเลวร้ายที่สุดได้ผ่านไปแล้ว ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แสดงว่าแนวโน้มกำลังดีขึ้น
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหดตัวร้อยละ 6.3 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วและหดตัวร้อยละ 5.7 ในไตรมาสแรกของปีนี้ สัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้คาดว่า เศรษฐกิจน่าจะหดตัวเหลือเพียงร้อยละ 1 – 3 ในไตรมาสนี้ ซึ่งจากการสำรวจของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาพบว่า หลายภาคในสหรัฐอเมริกาสถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ จึงคาดการไม่ถูกว่าในการประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางของสหรัฐ (Federal Reserve) จะตัดสินใจทิศทางดอกเบี้ยอย่างไร
ในสหรัฐอเมริกามีการพูดถึงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจแปลกๆ เช่น กางเกงในชาย ความสั้นของกระโปรง ลิปสติก และยาแก้ปวดแอสไพริน เป็นต้น
ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย กางเกงในจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผู้คนหยุดซื้อเพราะว่า เป็นสิ่งที่ถึงใส่แล้วก็ไม่มีใครอื่นเห็น(ยกเว้นคนใกล้ชิดบางคนเท่านั้น) การหยุดซื้อของประชาชนทำให้เกิดความต้องการในกางเกงในที่จะทะลักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในอนาคต เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น(Pent-up Demand) ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ยอดขายกางเกงในชายเพิ่มสูงขึ้น ก้อน่าจะแสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น
Alan Greenspan อดีตประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาเคยอ้างถึงตัวชี้วัดกางเกงในชายนี้ว่า ถ้ายอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 ต่อปี จะชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยทางธุรกิจแห่งหนึ่งในอเมริกาทำนายว่ายอดขายกางเกงในปีนี้จะลดลงร้อยละ 2.3 ต่อปี และยอดขายอาจไม่ฟื้นจนกระทั่งปี 2556 ส่วนยอดขายในปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนมกราคมปีนี้พบว่า ยอดขายตกร้อยละ 12 ต่อปีแต่มีสัญญาณดีขึ้น ยอดขายเริ่มทรงตัวในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจ
ตัวชี้วัดที่ 2 ได้มาจากทฤษฎีที่ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจสามารถทำนายได้โดยอิงกับแฟชั่นความยาวของกระโปรงในปีนั้นๆ ถ้ากระโปรงสั้นเป็นที่นิยมแสดงว่าตลาดหุ้นกำลังขึ้น ในทางตรงข้าม หากคนนิยมใส่กระโปรงยาวแสดงว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาลง เหตุผลของทฤษฎีนี้ก็คือ คนมักใส่กระโปรงยาวเมื่อระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกลัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและคนขาดกำลังซื้อ ในขณะที่เมื่อกระโปรงสั้นเป็นที่นิยมแสดงให้เห็นถึง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะตลาดหุ้นในช่วงขาขึ้น ทฤษฎีนี้อยู่บนสมมุติฐานที่ว่าการออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม และภาวะเศรษฐกิจที่อยู่รอบๆ ตัวผู้ออกแบบและผู้บริโภค
ตัวชี้วัดที่ 3 อ้างอิงกับแนวคิดที่ว่า เมื่อคนรู้สึกไม่มั่นใจกับอนาคต เค้าจะเปลี่ยนไปซื้อของฟุ่มเฟือยที่มีราคาไม่แพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิปสติก ความเชื่อนี้บ่งบอกว่ายอดขายลิปสติกจะเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูงเ หตุผลหนึ่งของการใช้ลิปสติกก็เพื่อช่วยปรับความรู้สึกให้ดีขึ้น (Mood enhancer) ซึ่งสามารถยกระดับความรู้สึกให้ดีขึ้นในช่วงที่รู้สึกหดหู่ มีเหตุการณ์จริงที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ก็คือ ในช่วงต้นปลายปีที่แล้วที่เศรษฐกิจแย่มาก ยอดขายของลิปสติกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ต่อปี และในช่วงเศรษฐกิจขาลงภายหลังเหตุการณ์หายนะตึกถล่ม 11 กันยายน ยอดขายลิปสติกก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
ตัวชี้วัดสุดท้ายคือ ยาแก้ปวดหัว (Aspirin) เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนก็มักปวดหัวง่าย ทำให้ยอดขายยาแก้ปวดหัวเพิ่มขึ้น ตัวชี้วัดยาแก้ปวดหัวจึงมีความผกผันกับทิศทางของตลาดหุ้นกล่าวคือ ยอดขายยาแก้ปวดหัวเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลง ในสหรัฐยอดขายของยาแก้ปวดหัวยี่ห้อ (Advil) ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐปั่นป่วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด
อนึ่ง ผมขอแนะนำหนังสือใหม่ชื่อ “การวางแผนการเงินอย่าง 40 คนดัง” ซึ่งจัดทำโดยธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนที่ต้องการศึกษาประสบการณ์ส่วนตัวและเรียนรู้แนวคิด และวิธีบริหารเงินจากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ อาทิเช่น นายกรัฐมนตรีของเรานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอีก 39 คนดังของประเทศ โดยรายได้จากการจำหน่ายจะเข้าการกุศลด้วย

รายงานประสบการณ์ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(โดยฝ่ายเศรษฐกิจ สอท. เบอร์ลิน)

1. บทนำ
สหพันธ์ฯ เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีประสบการณ์ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมานาน ประสบการณ์ของสหพันธ์ฯ ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยการขายวิสาหกิจจำนวนมากในเยอรมันตะวันออกภายหลังการรวมประเทศ หรือที่เรียกว่า mass privatization และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญในสาขาต่างๆ เช่น การรถไฟ และโทรคมนาคม เป็นต้น ประสบการณ์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหพันธ์ฯ มีทั้งประสบการณ์ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากผลสำเร็จ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางในการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และจากปัญหาที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งยังคงมีผลต่อเศรษฐกิจของสหพันธ์ฯ จนถึงปัจจุบัน เช่น ปัญหาการว่างงาน และปัญหาสังคม ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจของประชาชนโดยเฉพาะเยอรมนีตะวันออก เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ความรู้สึกสูญเสียความเป็นเจ้าของ และความไม่เท่าเทียมในเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการซื้อรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนความรู้สึกหวาดระแวงของประชาชนต่อรัฐบาล เป็นต้น
รายงานฉบับนี้ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก จะได้สรุปประสบการณ์ที่สำคัญของสหพันธ์ ในการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหพันธ์ฯ ซึ่งได้แก่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเยอรมันตะวันออก ในช่วงปี 2533 หรือที่เรียกว่า Treuhand Mass Privatization การแปรรูป Deutsche Telekom ในธุรกิจโทรคมนาคม การแปรรูปการรถไฟของสหพันธ์ฯ โดยการรวม German Federal Raiway of West และ German Reichsbahn of East Germany และการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ Hartz Commission เพื่อดูแลรับผิดชอบด้านการจ้างงานใหม่ และในช่วงที่สอง จะได้นำเสนอบทเรียนเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่หลายฝ่ายสามารถมาปรับใช้
2. ประสบการณ์ของสหพันธ์ฯ ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
2.1 การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเยอรมันตะวันออก (Treuhand Mass Privatization)
ภายหลังการรวมประเทศของสหพันธ์ฯ ในปี 2533 รัฐบาลสหพันธ์ฯ เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเยอรมันตะวันออก ซึ่งมีผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจและขาดประสิทธิภาพ แนวทางในการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล คือ การปฏิรูปโครงสร้างของ Treuhandanstalt หรือเรียกสั้นๆ ว่า Treuhand ซึ่งเป็นองค์กรเดิมของรัฐบาลเยอรมันตะวันออก ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยรัฐบาลสหพันธ์ฯ ได้กำหนดให้ Treuhand ซื้อกิจการวิสาหกิจประเภทอุตสาหกรรมในเยอรมันตะวันออกกว่า 13000 แห่ง และจำหน่ายวิสาหกิจดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขั้นตอนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหพันธ์ฯ โดยการดำเนินการของ Treuhand ก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ คือ การเตรียมการและแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและผลที่จะได้รับ การดำเนินการชดเชยค่าเสียหาย โดยเฉพาะในรูปของพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการจัดจำหน่ายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ดังกล่าว ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เช่นในเรื่องการประชาสัมพันธ์ รัฐบาลได้สร้างภาพให้ประชาชนเข้าใจว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ในทันที ทำให้ประชาชนตั้งความหวังไว้มาก แต่ในความเป็นจริง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเยอรมันตะวันออกมิใช่กระบวนการที่ง่ายและเห็นผลได้ในทันที ในส่วนของการดำเนินการชดเชยค่าเสียหาย ก็ได้รับการวิจารณ์ว่า กระบวนการชดเชยไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ และไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน อีกทั้งการจัดจำหน่ายรัฐวิสาหกิจ Treuhand ก็ให้ความสำคัญการจำหน่ายให้แก่ชาวเยอรมันตะวันตกและนักลงทุนต่างชาติมากกว่าชาวเยอรมันตะวันออก เป็นต้น จากรายงานของ Stack (2004)1 ระบุว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ Treuhand ครั้งนี้ ได้ส่งผลในหลายด้าน เช่น ความรู้สึกของชาวเยอรมันตะวันออกที่ไม่มั่นใจต่อรัฐบาลประชาธิปไตย ความรู้สึกไม่มั่นคงในสิทธิการเป็นเจ้าของ และความรู้สึกว่าเยอรมันตะวันออกกำลังจะกลายเป็นอาณานิคม (colonization) หรือถูกยึดครอง (occupation) เป็นต้น
นอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ได้มีรายงานการศึกษาถึงการดำเนินงานของ Treuhand เช่นรายงานของ Nienhaus (2002)2 ได้ระบุถึงความล้มเหลวของการดำเนินงานของ Treuhand ในส่วนของเรื่องการจัดการบริหารการเงิน และการจัดการเรื่องจ้างงานแก่ผู้ตกงานซึ่งเป็นผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการบริหารการเงินนั้น Nienhaus (2002) อธิบายว่า รายได้จากการขายรัฐวิสาหกิจในเยอรมันตะวันออกคาดว่าจะมีสูงถึง 100 พันล้านมาร์ก (บางรายงานระบุว่า 170 พันล้านมาร์ก) แต่จนถึงเมื่อปลายปี 2537 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการขายรัฐวิสาหกิจ Treuhand มีรายได้จากการขายรัฐวิสาหกิจเพียง 76 พันล้านมาร์ก และยังมีรายจ่ายในการดำเนินงานแปรรูปถึง 332 พันล้านมาร์ก ซึ่งทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้ ขาดทุนรวม 256 พันล้านมาร์ก
สาเหตุที่ทำให้ Treuhand ขาดทุนขนานใหญ่นี้ เนื่องมาจาก รูปแบบการขายรัฐวิสาหกิจที่ Treuhand ดำเนินการนี้ มิได้เป็นในรูปแบบของการประมูลให้ได้ราคาสูงสุด แต่เป็นลักษณะของการเจรจากับนักลงทุนที่ Treuhand เชื่อว่ามีศักยภาพ นอกเหนือจากที่นักลงทุนจะต้องเสนอแผน
1 Stack, H. (2004)The “Colonization” of East Germany?: A comparative Analysis of German Privatization, URL://www.law.duke.edu/journals/dlj/articles/dlj46p1211.htm
2. Nienhaus, V. (2002) Privatization in Germany – Experience and Inspirations, URL:134.147.147.22/ MatLi/20021023/Privatization%20Germany%2020021101.pdf
ซื้อกิจการแล้ว ยังจะต้องเสนอแผนงานธุรกิจในเรื่องการปรับโครงสร้างของวิสาหกิจ
แผนการลงทุน และการจัดการเรื่องแรงงานด้วย นอกจากนี้ ในการพิจารณาขายรัฐวิสาหกิจ Treuhand ยังได้กำหนดเงื่อนไขว่า หากนักลงทุนที่ต้องการซื้อกิจการ กำหนดว่าจะเพิ่มตำแหน่งงาน 1 ตำแหน่ง จะได้รับการลดราคาของกิจการที่จะซื้อประมาณ 50000 มาร์ก หรือหากมีแผนจะลงทุนเพิ่ม 1 มาร์ก จะได้รับส่วนลดราคาสินทรัพย์ 0.50 มาร์ก ด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเปรียบเสมือนการซื้อแผนธุรกิจของบริษัทมากกว่าการจำหน่ายรัฐวิสาหกิจ จากการดำเนินการดังกล่าว ยังทำให้ Treuhand มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจสอบการดำเนินงานตามสัญญาของผู้ซื้อรัฐวิสาหกิจว่าดำเนินการตามข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีรวมกว่า 39000 สัญญา
ในส่วนของการเลิกจ้างงาน มีรายงานว่า ภายหลังการรวมประเทศและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดย Treuhand เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานในระบบของเยอรมันตะวันออกได้ลดจำนวนลง โดยก่อนการรวมประเทศ เยอรมันตะวันออกมีการจ้างงาน 9.7 ล้านคน และในปี 2537 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเสร็จสิ้น จำนวนการจ้างงานลดลงเหลือเพียง 6.2 ล้านคน โดยมีอัตราว่างงานเท่ากับร้อยละ 13 สาเหตุของการว่างงานที่มีอัตราที่สูงนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมาตรการในการสร้างงานแก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ทั้งนี้ ปัญหาด้านแรงงานบางส่วนมีสาเหตุจาก (1) การไม่มีรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดอุปสงค์แรงงาน (2) แม้ว่าแรงงานจากเยอรมันตะวันออกจะสามารถเคลื่อนย้ายไปเยอรมันตะวันตกได้ แต่อุปทานแรงงานทางเยอรมันตะวันตกยังคงสูงกว่าอุปสงค์ (3) รัฐวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่เน้นการใช้ทุน และความรู้เฉพาะทาง ซึ่งแรงงานเยอรมันตะวันออกขาดคุณสมบัติ (4) มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมขาดประสิทธิภาพในการกำหนดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ รายได้ส่วนใหญ่ที่เกิดจากรัฐวิสาหกิจในเยอรมันตะวันออก ในรูปของกำไร ได้ถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มนักลงทุน ซึ่งเน้นการบริหารบริษัทและการผลิตโดยใช้ทุนเป็นหลัก มิได้เน้นในเรื่องการพัฒนามูลค่าเพิ่ม เช่น การพัฒนาแรงงานและทุนไปพร้อมกัน ทำให้แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมันตะวันออกจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากใช้ทุนในการดำเนินกิจการซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี แต่มิได้เพิ่มการจ้างงาน
Treuhand ได้ยุติการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเยอรมันตะวันออก เมื่อปี 2537 ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหพันธ์ฯ โดยมีการจำหน่ายรัฐวิสาหกิจให้แก่ภาคเอกชนรวม 6500 แห่ง จำหน่ายให้แก่ชุมชน 300 แห่ง ต้องแปรรูปใหม่อีก 1600 แห่ง และปิดกิจการรวม 3700 แห่ง สิ่งที่หลายฝ่ายได้เรียนรู้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ Treuhand อาจสรุปได้ว่า (1) การว่างงานซึ่งเป็นผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนานใหญ่เป็นปัญหาและภัยเรื้อรังต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ และ (2) มาตรการเสริมและให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาวิสาหกิจและแรงงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินงานตามที่มักนิยมกระทำกันตามสูตรที่เคยทำมา (convention) ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
2.2 การแปรรูปธุรกิจโทรคมนาคม
ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มิได้ส่งผลกระทบให้เกิดการว่างงานดังเช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นของสหพันธ์ฯ การดำเนินการแปรรูปธุรกิจโทรคมนาคมนี้ สหพันธ์ฯ ใช้ระยะเวลาพอสมควร เริ่มแรก ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะปฏิรูปวิสาหกิจโทรคมนาคมของสหพันธ์ฯ ซึ่งมีการผูกขาดการให้บริการมาเป็นเวลานาน ขั้นตอนแรกของการดำเนินการปฎิรูป คือ การเปลี่ยนรูปแบบรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม ให้มีการดำเนินงานและบริหารแบบเอกชนในรูปของบริษัท ซึ่งรัฐบาลได้จัดตั้ง Deutsche Telekom AG (DT) ขึ้น โดยในช่วงแรกรัฐบาลถือหุ้นของ DT ทั้งหมด จากนั้นจึงได้เริ่มกระบวนการแปรรูป โดยจัดให้มีการจำหน่ายหุ้นของ DT แกประชาชน ใน 3 ช่วง คือในปี 2539 ปี 2543 และ ปี 2544 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลมีสัดส่วนการถือหุ้นของ DT ร้อยละ 47 ต่อมาในปี 2541 รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการเปิดเสรีในธุรกิจโทรคมนาคมให้มากขึ้น ทำให้ DT ไม่สามารถดำเนินธุรกิจโดยผูกขาดการให้บริการระบบโทรศัพท์ได้ต่อไป และจำเป็นจะต้องให้ license แก่ผู้ประกอบการใหม่ในการให้บริการระบบอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์บ้าน และโทรศัพท์มือถือ
ในส่วนการให้บริการระบบโทรศัพท์บ้าน (Fixed line) นั้น นอกเหนือจากที่ DT จะต้องให้ license แก่ผู้ประกอบการอื่นแล้ว ตามกฎหมายด้านโทรคมนาคมและไปรษณีย์ใหม่ของสหพันธ์ฯ กำหนดให้ DT จะต้องให้ผู้ประกอบการอื่นสามารถใช้เครือข่าย (network infrastructure) ของ DT ได้โดยคิดอัตราค่าใช้จ่ายที่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการใหม่ส่วนใหญ่ของสหพันธ์ฯ เช่าเครือข่ายและอุปกรณ์จาก DT โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการสร้างและบริหารเครือข่ายโทรคมนาคมเอง ทั้งนี้ จะมีหน่วยงานที่เรียกว่า Regulation Authority คอยกำกับดูแลในเรื่องการกำหนดราคาการคิดค่าบริการของผู้ประกอบการต่างๆ
จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้อัตราค่าโทรศัพท์ของสหพันธ์ฯ ถูกลงอย่างมาก โดยผู้ประกอบการอื่นๆ ได้มีการตัดราคาค่าบริการลง ซึ่งส่งผลให้ตลาดโทรศัพท์บ้านมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น การขยายตัวดังกล่าว ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมของสหพันธ์ฯ ขยายตัว และไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราว่างงานของภาคธุรกิจนี้
2.3 การแปรรูปการรถไฟของสหพันธ์ฯ
การแปรรูประบบการรถไฟของสหพันธ์ฯ เป็นการดำเนินการควบรวมกิจการ (merger) ระหว่าง German Federal Railway ของเยอรมันตะวันตก และ German Reichsbahn ของเยอรมันตะวันออก ซึ่งทั้งสองรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างมาก และ German Reichsbahn ยังมีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง แนวนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งสองอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่สหภาพยุโรปมีแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบการเดินรถไฟให้เป็นระบบเดียวกันเพื่อการเชื่อมโยงการขนส่งในยุโรป
ขั้นตอนในการดำเนินการแปรรูป German Federal Railway และ German Reichsbahn ที่สำคัญ คือ ขั้นตอนแรก การออกกฎหมายเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของทั้งสองบริษัทจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และทำการควบรวมกิจการของรัฐวิสาหกิจทั้งสอง ในปี 2537 โดยรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด ขั้นตอนที่สอง การปรับโครงสร้างภายใน ซึ่งได้ดำเนินการสองช่วง ในปี 2537 และ 2542 ซึ่งการปรับโครงสร้างภายในนี้ แยกเป็น (1) การปรับโครงสร้างในด้านการบริหาร (public domain) โดยการจัดตั้งกองทุนรถไฟ (Federal Railway Fund – Bundeseisenbahnvermoegen – BEV) ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล กองทุนดังกล่าวจะบริหารหนี้เก่าของ German Federal Railway และ German Reichsbahn และดูแลเรื่องการจ้างพนักงานของรัฐวิสาหกิจทั้งสอง และองค์การรถไฟ (Federal Railway Authority – Eisenbahnbundesamt – EBA) โดยมีหน้าที่ในการจัดการการบริหารการเดินรถไฟของการรถไฟเยอรมัน (German Railway – Deutsche Bahn AG) รวมถึงการให้ licenses และการคิดอัตราค่าเช่าทางรถไฟ และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการขนส่ง (2) การปรับโครงสร้างด้านธุรกิจ ได้มีการจัดตั้ง German Railway (Deutsche Bahn AG – DB) ขึ้น และในปี 2542 DB ได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารงาน โดยจัดตั้งบริษัทดำเนินงานในด้านต่างๆ รวม 5 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีบริษัทลูกของตน ได้แก่ DB Journey&Tourism (DB Reise & Touristik AG) ซึ่งดำเนินงานด้านการขนส่งผู้โดยสารระยะทางไกล DB Regional (DB Regio AG) ดำเนินงานด้านการขนส่งผู้โดยสารภายในพื้นที่ต่างๆ DB Cargo (DB Cargo AG) ดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้า DB Station & Service (DB Station and Service AG) ดำเนินงานด้านการบริหารสถานีรถไฟ และ DB Network (DB Netz AG) ดำเนินงานการจัดการด้านเครือข่ายเส้นทางรถไฟ ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะนำบริษัททั้งห้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548
ปัญหาที่สำคัญของ German Railways นอกเหนือจากการแข่งขันที่สูงกับการคู่แข่ง คือ การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศและทางถนนแล้ว ยังมีปัญหาต่อเนื่องที่สำคัญ คือ ปัญหาระบบการจ้างงาน ซึ่งเป็นระบบที่กำหนดอัตราค่าจ้างและเงินเดือนตายตัวมากกว่าที่จะปรับฐานเงินเดือนตามความสามารถและการทำงานของพนักงาน และปัญหาภาระจากระบบการเกษียณอายุ ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากระบบการจ้างงานต่างๆ อยู่ภายใต้กองทุนรถไฟ ซึ่งเป็นการบริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล มีการให้เงินเดือนพนักงานตามรูปแบบของพนักงานของรัฐ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบของบริษัท DB ทั้งห้า พนักงานของ DB สามารถที่จะเลือกได้ว่า จะอยู่ภายใต้ระบบการให้เงินเดือนแบบเดิมคือ อยู่ภายใต้กลไกของกองทุนรถไฟ และได้รับประกันการจ้างงานตลอดชีพ หรือจะเลือกอยู่ในระบบการให้เงินเดือนแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งมีพนักงานส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ภายใต้ระบบการให้เงินเดือนแบบเดิม อย่างไรก็ดี หากมีการเกษียณอายุของพนักงาน DB ก็จะไม่รับพนักงานเพิ่มในส่วนนี้ แต่พนักงานใหม่จะเข้าระบบการให้เงินเดือนแบบใหม่ ซึ่งทำให้สามารถเลือกรับพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นได้
ประเด็นที่น่าศึกษาจากการแปรรูปการรถไฟของสหพันธ์ฯ นี้ มีอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ (1) เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในการเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กฎหมายมหาชน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือกระทบต่อสถานะของพนักงาน และ (2) ระบบการจัดการเกี่ยวกับพนักงานที่เหมาะสมและสอกคล้องกับความเป็นจริง ทำให้พนักงานที่ได้รับผลกระทบมีทางเลือก และสามารถลดต้นทุนการบริหารได้
2.4 การบริการการจ้างงาน
ในปี 2545 สหพันธ์ฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการลดอัตราว่างงานและปฎิรูปโครงสร้างสำนักงานแรงงาน (The Commission for the Reduction of Unemployment and the Restructuring of the Federal Labor Office หรือ Hartz Commission) คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ดำเนินงานในด้านการปรับโครงสร้างซึ่งมีนัยยะของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้แก่ การยกเลิกการผูกขาดการบริหารงานด้านแรงงานของภาครัฐ โดยการเปิดโอกาสให้บริษัทจัดหางานของภาคเอกชนได้มีส่วนมากขึ้นในระบบบริหารแรงงานและอนุญาตให้ผู้ตกงานสามารถจ่ายเงินค่าบริการแก่บริษัทจัดหางานของเอกชนได้ รวมถึงสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานแรงงานและบริษัทจัดหางานของเอกชนด้วย
ประเด็นปัญหาสำคัญซึ่งเป็นที่ถกเถียงในสหพันธ์ฯ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของ Hartz Commission คือ การจัดตั้ง Personnel Service Agencies (PSAs) ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานแรงงานในเมืองต่างๆ กว่า 180 แห่งทั่วประเทศ และกำหนดให้ PSAs จ้างงานจากแรงงานที่ไม่มีงานทำ ทำให้เกิดการวิจารณ์ว่ารูปแบบการจ้างงานของ PSAs เปรียบเหมือนการให้เงินเดือนอีกรูปแบบหนึ่งแก่ผู้ว่างงาน
3. บทเรียนจากประสบการณ์ของสหพันธ์ฯ
Nienhaus (2002) ได้ระบุในรายงานถึงบทเรียนที่ได้จากประสบการณ์ของสหพันธ์ฯ ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่า ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะลดจำนวนพนักงานลงโดยไม่กระทบต่อการว่างงาน และการพัฒนาแรงงานให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อบริษัท มีข้อพิจารณาดังนี้
-ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจมีพนักงานจำนวนมาก และเป็นภาระต่อรัฐวิสาหกิจนั้น มีข้อพิจารณา
ก่อนการปลดพนักงาน คือ
(1) หากรัฐวิสาหกิจนั้น ขาดทุนซึ่งหากวิเคราะห์ดูแล้ว ว่าเป็นผลมาจากที่ไม่สามารถบริหารจัดการด้านการผลิตและราคาให้อยู่ในภาวะคุ้มทุนได้ โดยสาเหตุของการขาดทุนมิได้เกิดจากการมีพนักงานมาก แต่เกิดจากนโยบายการผลิตซึ่งมาจากนโยบายการเมือง และการควบคุมราคาจากหน่วยงานภาครัฐ การให้พนักงานออกจากงาน ก็จะเป็นภาระแก่รัฐวิสาหกิจนั้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นเพิ่มต้นทุนในการจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานที่ถูกให้ออก
(2) หากรัฐวิสาหกิจนั้น มีกำไร ซึ่งเกิดจากการผลิตและการกำหนดราคาที่ผูกขาด (monopoly) แล้ว การให้พนักงานออกจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นในการต้องหางานใหม่และจ่ายค่าชดเชนให้กับพนักงานด้วย ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า การได้กำไรจากการกำหนดราคาที่ผูกขาดนั้น ผู้บริโภคเป็นผู้แบกภาระดังกล่าว มิใช่รัฐวิสาหกิจนั้น
-หากจำเป็นจะต้องให้พนักงานออกจากรัฐวิสาหกิจจริงๆ รัฐวิสาหกิจนั้น จำเป็นจะต้องให้
การช่วยเหลือแก่พนักงานเหล่านั้น และจากประสบการณ์ของสหพันธ์ฯ ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่กล่าวมาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มาตรการในเรื่องการหางานและการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมต่างๆ มิได้ช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น รัฐวิสาหกิจจำเป็นจะต้องพิจารณาแนวทางใหม่ในการช่วยเหลือพนักงาน หนึ่งในทางเลือกดังกล่าว คือ รัฐบาลอาจใช้วิธีให้เช่า (lease out) พนักงานแก่นักลงทุนที่จะตั้งกิจการใหม่ โดยคิดอัตราค่าจ้างพนักงานจากบริษัทเอกชนต่ำกว่าราคาตลาด (ขณะที่รัฐยังจ่ายเงินเดือนเท่าเดิมแก่พนักงาน) ถึงแม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะคล้ากับการอุดหนุนเงินเดือนพนักงาน ซึ่งไม่ถูกหลักกลไตลาด แต่เมื่อคำนึงถึงผลเสียจากการว่างงาน ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว น่าจะเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจต้องกำหนดมาตรการควบคุมอื่นๆ เช่น การกำหนดระยะเวลาในการให้เงินอุดหนุน การกำหนดประเภทของนักลงทุน (อาจเป็นเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ) การกำหนดประเภทการลงทุน (การลงทุนเพื่อการส่งออก) สถานที่การลงทุน (อาจเป็นเฉพาะจุดนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุน) มูลค่าเงินลงทุน และการค้ำประกันจากนักลงทุน เป็นต้น
4. บทสรุป
ประสบการณ์ของสหพันธ์ฯ ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ เช่น การแปรรูปโดย Treuhand และการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ เช่น โทรคมนาคม การรถไฟ ของสหพันธ์ฯ เป็นประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยสามารถเรียนรู้ในเรื่องการจัดการที่ประสบผลสำเร็จ และล้มเหลว เช่น การแปรรูปการรถไฟของสหพันธ์ฯ ประสบความสำเร็จในการจัดการระบบการจ้างงานพนักงาน ซึ่งทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่กระทบต่อพนักงานและรูปแบบการบริหารสมัยใหม่ การแปรรูป Deutsche Telekom ทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจ มีการขยายตลาดมากขึ้น อัตราค่าโทรศัพท์ลดลง เป็นต้น ขณะที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ Treuhand ในเยอรมันตะวันออก ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาว่างงานซึ่งกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของเยอรมันในเวลาต่อมา อีกทั้งยังได้แสดงให้เห็นว่า แนวทางการจัดการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มิใช่สูตรสำเร็จที่จะสามารถใช้แนวทางและมาตรการแบบเดิมที่นิยมทำต่อกันมาได้ในทุกกรณี ในตอนท้ายของรายงานนี้ ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาสำคัญของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดย Nienhaus (2002) ให้ข้อสรุปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาใช้มาตรการรองรับปัญหาแรงงานในมุมมองใหม่ แทนแนวทางเดิมแม้จะเป็นการขัดต่อหลักการการแข่งขันตามกลไกตลาดก็ตาม ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า รายละเอียดขั้นตอนในการแปรรูปของแต่ละรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยน่าจะได้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
พฤษภาคม 2547


http://www.thaiembassy.de/economic/privat_rep.htm

จุดเสี่ยงรัฐท่ามกลางฝ่ายค้านอ่อนแอ

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)
ในประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.เตรียมพิจารณาความเป็นสมาชิกภาพของส.ที่ถือครองหุ้นในกิจการสื่อและบริษัทที่รับสัมปทานกับรัฐว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48ประกอบมาตรา265 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่?นั้นในเรื่องนี้มีจุดทีต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น

คือ เรื่อง"กฎหมายของประเทศไทย" บางครั้งเขียนขึ้นมาไม่ชัด ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นในตัวกฎหมายตีความตามตัวอักษรอาจทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติมากพอสมควร ฉะนั้น ถ้าหากการตีความจะมีการตรวจสอบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ชัดเจนด้วยก็อาจจะช่วยทำให้บ้านเมืองไม่ต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียด้านทรัพยากร การสูญเสียจากการใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อม ที่อาจจะต้องเกิดขึ้นในครั้งใหม่ หรือการสูญเสียในด้านอื่น ๆ ที่เกิดจากการพิจารณาหรือวินิจฉัยให้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องสิ้นสภาพ

ประเด็นที่ 2 หากต้องมีการตัดสิทธิ ส.ส. จริง จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ครั้งใหม่ ถามว่าจะกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ เนื่องจากมี ส.ส. ซึ่งเป็นรัฐมนตรีจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปมาก ทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน แต่ว่าการเลือกตั้งซ่อมจะต้องเกิดภายใน 45 วัน ดังนั้นใน 45 วัน รัฐบาลอาจจะต้องประคับประคองตัวให้รอดพ้นในช่วงการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้น และถ้าหากผลการเลือกตั้งซ่อมออกมา รัฐบาลยังได้รับความไว้วางใจ จากประชาชนเข้ามา ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถประคับประคองตัวได้อีกทางหนึ่ง

ยกเว้นการเลือกตั้งซ่อมที่ออกมารัฐบาลจะได้เสียงน้อยคือ ประชาชนไม่เลือก ส.ส. ของรัฐบาล ทำให้เกิดเสียงน้อยในสภา จนกระทั่งไม่สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ได้ รัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสี่ยงในการบริหารประเทศ ซึ่งจะทำให้การบริหารยากขึ้น การเสนอกฎหมายใด ๆ ที่จะต้องเข้าสู่สภา ก็จะทำให้ยากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้และจะต้องยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของการถือหุ้นทางรัฐมนตรีก็จะระบุหรือยืนยันว่า ได้ถือหุ้นไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดการสูญเสีย เนื่องจากความจริงแล้วกฎหมายที่เขียนไว้มีเจตนารมณ์อย่างไร การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพียงเล็กน้อยจะไม่มีผล ถือเป็นเรื่องไม่รอบคอบของกฎหมายทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ทั้งนี้หากรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ของพรรคการเมืองถูกวินิจฉัยให้พ้นสภาพจริง ก็ไม่น่ามีปัญหา เพียงแค่พ้นสภาพความเป็น ส.ส. เท่านั้น ยังสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เช่นเดิม เพราะการเป็นรัฐมนตรีจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่ง ส.ส. แต่จะต้องถือหุ้นไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ก็จะกระทบกระเทือน เนื่องจากกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในสัมปทานของรัฐเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องนี้ไม่ยาก แค่ขายหุ้นที่ถือออกไปก็สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องยาก

เรื่องที่มีการร้องเรียนในขณะนี้ถือเป็นองค์ประกอบที่จะใช้ต่อสู้ในทางการเมืองเท่านั้น เพราะหากมีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ก็จะต้องตกอยู่ในกระแสอย่างแน่นอน

หาก กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรีพ้นสภาพก็จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่ภายใน 45 วัน และถ้ารัฐบาลยังสามารถครอบครองเสียงข้างมากไว้ได้เช่นเดิม ก็ไม่น่ามีปัญหา สามารถบริหารประเทศต่อไปได้

เพราะวันนี้ฝ่ายค้านยังอ่อนแอ เนื่องจากยังไม่มีผู้นำตัวจริง ซึ่งผู้นำตัวจริงยังอยู่ต่างประเทศ ที่อยู่ในประเทศก็เป็นแค่นอมินี สุดท้ายการเมืองที่ไม่มีตัวจริง ประชาชนก็ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เพราะการบริหารประเทศขึ้นอยู่กับตัวผู้นำที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด !!


http://www.innnews.co.th/sombat.php?nid=178910