วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

กลุ่มประเทศจี 20

กลุ่มประเทศจี 20 ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศคือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา รวมกับกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วย สหภาพยุโรป (อียู) อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี ทั้ง 20 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก


'จี20'ลั่นร่วมกันกู้วิกฤติโลก

รัฐมนตรีคลังจาก 20 ชาติร่ำรวยและเศรษฐกิจเกิดใหม่ (จี 20) ให้คำมั่นช่วยกันหาทางฟื้นเศรษฐกิจโลกให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย เล็งออกกฎคุมเฮดจ์ฟันด์ ป้องกันเกิดวิกฤติซ้ำ พร้อมเพิ่มงบหนุนไอเอ็มเอฟช่วยเหลือประเทศที่เดือดร้อน
"เราให้คำมั่นจะทำทุกวิถีทางที่จำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้กลับมาเติบ โตอีกครั้ง" รัฐมนตรีคลังกลุ่มจี 20 ระบุในแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการหารือเมื่อวันเสาร์เพื่อเตรียมการ ประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ที่อังกฤษในวันที่ 2 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันคือ "การต่อสู้กับลัทธิกีดกันทางการค้าในทุกรูปแบบ เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีการค้าและการลงทุน" รวมถึงการกระตุ้นการปล่อยกู้ภาคธนาคาร และรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป นอกจากนี้ยังเห็นพ้องเร่งให้ความช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนา และเพิ่มงบปล่อยกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า งานสำคัญอันดับแรกคือการฟื้นฟูภาคธนาคารเพื่อให้การปล่อยกู้ซึ่งเปรียบ เสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง แต่ยังคงเห็นต่างในเรื่องงบที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งฝ่ายสหรัฐและ อังกฤษเรียกร้องแต่ละชาติอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2% ของจีดีพี แต่ทางฝั่งยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีและฝรั่งเศสไม่เห็นด้วย พร้อมยืนยันว่ามาตรการเดิมที่ใช้อยู่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อีกทั้งเตือนให้ระมัดระวังการใช้จ่าย โดยนายเพียร์ สไตน์บรูค รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ยักษ์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของยุโรป เน้นย้ำเกี่ยวกับหนี้สินภาครัฐอันเนื่องมาจากการทุ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเห็นว่าทางที่ดีแต่ละประเทศควรรอดูผลของมาตรการที่ออกไปแล้วก่อน จากนั้นจึงค่อยพิจารณาว่าควรจะปล่อยงบออกไปรอบใหม่หรือไม่
สำหรับประเด็นกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) ที่ประชุมเห็นควรว่ากองทุนดังกล่าวต้องได้รับการจดทะเบียนและเปิดเผยข้อมูล ที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเห็นควรให้ควบเข้มบรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์การเงินโลกเกิดขึ้นซ้ำอีก
ด้านนายโรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลกที่เข้าร่วมประชุมด้วย ย้ำว่าหากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินได้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกก็จะไม่มีทางฟื้นคืนกลับมาได้
จนถึงขณะนี้ สหรัฐ ต้นตอวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการแก้ปัญหาหนี้เสียของภาคสถาบันการเงิน อย่างจริงจัง แต่มีกระแสข่าวว่าสหรัฐจะชี้แจงประเด็นนี้ในสัปดาห์นี้
การให้ความช่วยเหลือตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจเป็นอีก ประเด็นที่รัฐมนตรีคลังจี 20 ให้ความสำคัญ นายอลิสแตร์ ดาร์ลิง รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ กล่าวถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ว่า" เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสกัดกั้นหายนะที่จะเกิดกับชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่"
แม้ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟจะได้จัดสรรงบเข้าโอบอุ้มเศรษฐกิจของชาติในยุโรปตะวันออกไปแล้ว เกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ขณะนี้ไอเอ็มเอฟยังคงต้องการเงินบริจาคเพิ่มเติมเพื่อให้ได้งบตามที่ตั้ง เป้าไว้คือ 5 แสนล้านเหรียญฯ
ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี โดยทั้งสองกล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่าการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ต้นเดือนหน้าจะสามารถได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ คาดกันว่าปีนี้เศรษฐกิจของกลุ่มจี 20 ซึ่งมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันกว่า 80% ของจีดีพีรวมทั้งโลก น่าจะประสบภาวะหดตัวมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ รุนแรงเมื่อหลายสิบปีก่อน.

http://www.thaipost.net/news/160309/1767