วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ว่าด้วยโพลกับการขออภัยโทษให้ทักษิณ

ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์

ขอเรียกร้องให้สำนักโพลต่าง ๆ กำหนดคำถามต่อสังคมในทางสร้างสรรค์ไม่ใช่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมมากขึ้นไปอีก ในประการสำคัญอันเป็นหลักสากลอยู่แล้ว โพล (poll) คือ การสำรวจความคิดเห็นของผู้คนบางกลุ่มจำนวนหนึ่งที่อาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ และโดยเจตนารมณ์ (intention) ของโพลที่เกิดขึ้น คือ การมุ่งสร้างสรรค์ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเรื่องหนึ่ง ๆ แก่องค์กรและสังคม

การสำรวจความคิดเห็นในรูปแบบของโพลจะไม่โยงใยไปถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด อันจะสร้างความแตกแยกแก่สังคม เช่น กรณีการเมืองการปกครอง ความขัดแย้งในเรื่องตัวบทกฎหมาย หรืออย่างกรณีที่เป็นประเด็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ

เรื่องเช่นนี้ อาศัยความรอบรู้และประสบการณ์อย่างกว้างขวางในการมีส่วนร่วมในการสำรวจความคิดเห็นในรูปแบบของโพล อาจต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักนิติศาสตร์ แม้แต่หลักจริยธรรมทางการเมืองการปกครองแก่บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแสดงข้อคิดเห็น หาใช่เป็นการสำรวจตรวจสอบทัศนคติในเรื่องซึ่งมีความละเอียดอ่อนและมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมจากบุคคลใด ๆ ก็ได้ตามอำเภอใจ

กรณีการขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักการเมือง มิใช่เป็นเรื่องของราชประชาสมาสัย เพราะตามคำนิยามมีความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนทั้งมวลกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในเรื่องหนึ่ง ๆ ซึ่งในกรณีนี้แม้แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในทางตรงข้าม กลับกลายเป็นความแตกแยกมากมายยิ่งขึ้น

ทุกภาคส่วนจึงต้องมีความระมัดระวัง และไม่ผลีผลามแสดงความคิดเห็นอันเป็นการขัดแย้งต่อหลักจารีตประเพณีและกระบวนวิธีทางกฎหมายที่บัญญัติไว้ ได้แก่ การพิจารณาตามมาตรา 259 – 261 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2548

และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงสถาบันฯ ในกรอบของแนวทางการพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เพราะทั้งหลายทั้งปวง ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำ / ทัณฑสถาน กระทรวงยุติธรรม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศสำหรับกรณีผู้ต้องโทษชาวต่างชาติ ย่อมมีส่วนรับผิดชอบในการพิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามครรลองครองธรรมของกระบวนวิธีทางกฎหมาย

ในทางจารีตประเพณีของชาติไทย บุคคลจะไม่กล่าวพาดพิงถึงพระราชอำนาจในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องโทษในทุก ๆ กรณี


http://www.innnews.co.th/ideacorner.php?nid=178837