วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การแปรรูปรถไฟไทย

ครม.พิจารณาแผนฟื้นฟูการรถไฟวันนี้
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 08:00
คมนาคมชง ครม.วันนี้ พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ และจัดตั้ง 2 บริษัทลูกของการรถไฟ คาดสร้างรายได้แตะแสนล้านบาทภายใน 10 ปี

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.คาดหวังให้การพิจารณาแผนปฏิบัติการในการปรับปรุงโครงสร้าง และจัดตั้งบริษัทเดินรถและบริหารทรัพย์สินผ่านการเห็นชอบจาก ครม.วันนี้ (26 พ.ค.) ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการดำเนินการในภาพรวมของ ร.ฟ.ท.

นายยุทธนา กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทลูกของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ตลิงค์ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ โดยแผนการจัดตั้งบริษัทลูกถือเป็นการดำเนินการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบระบบเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ที่ ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นช่วงเดือน เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีบริษัทเดินรถของแอร์พอร์ตลิงค์เกิดขึ้น การจัดหาบุคลากร การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะสามารถเดินหน้าอย่างคล่องตัว เพราะไม่ต้องนำทุกเรื่องที่จะดำเนินการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. โดยผู้บริหารของบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้น สามารถบริหารและสั่งการงานต่างๆ ได้เลย ส่วนโครงสร้างของบริษัท ยืนยันว่า ร.ฟ.ท.ควรเป็นผู้ถือหุ้น 100% ส่วนการที่จะนำผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในพนักงาน ร.ฟ.ท. รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบว่า รูปแบบใดมีความเหมาะสมมากที่สุด

ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างและทดสอบการเดินรถของโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ในส่วนของการก่อสร้าง และตกแต่งสถานี มีความคืบหน้าแล้ว 99%

สาเหตุที่ ร.ฟ.ท. ต้องการเปิดให้มีการเริ่มทดสอบเดินรถเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้ เพราะรถไฟฟ้าทั้ง 31 คัน 9 ขบวน ที่ประกอบโดย บริษัทซีเมนส์ นำเข้ามาในประเทศไทยจนครบเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งก็ควรนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ทดสอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังคาดหวังว่า แผนฟื้นฟูกิจการในภาพรวมจะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน เนื่องจากจะทำให้ฐานะการเงิน และภาพรวมกิจการรถไฟปรับตัวไปในทิศทางดีขึ้น

สำหรับภาพรวมของแผนการฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงคมนาคม เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น ได้เสนอให้ภาครัฐเข้ามารับภาระ ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ (PSO) และการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบราง การซ่อมบำรุง และระบบอาณัติสัญญาณ (Infrastructure Maintenance Operation : IMO) ในอนาคต 70% คิดเป็นวงเงิน 48,426 ล้านบาท โดยบริษัทเดินรถที่ ร.ฟ.ท.จัดตั้งขึ้น จะรับภาระที่เหลืออีก 30%

ทั้งนี้ โดยผลการศึกษาระบุชัดเจนว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อเทียบกับการไม่ดำเนินการจะมีผลแตกต่างกันมาก คือ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟู จะทำให้ ร.ฟ.ท. มีรายได้เพิ่มจากการเดินรถ เป็น 109,521 ล้านบาท จากปกติ 79,638 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี เนื่องจาก ร.ฟ.ท.จะมีรายได้เพิ่มจากการเดินรถ และขนส่งสินค้า ตามแผนการลงทุนก่อสร้างทางคู่ ขณะเดียวกัน จะสามารถลดเงินอุดหนุน ตามเงื่อนไข IMO จาก 69,320 ล้านบาท ลงเหลือ 48,426 ล้านบาท และลดเงินสนับสนุนด้าน PSO ลงจาก 40,000 ล้านบาท ลงเหลือ 25,376 ล้านบาท
**************************************************************
สหภาพฯร.ฟ.ท.ร้องนายก เบรกนำแผนฟื้นฟูเข้าครม
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 2 มิถุนายน 2552 00:01

สหภาพฯ ร.ฟ.ท. ยื่นหนังสือร้อง "อภิสิทธิ์" เบรกแผนฟื้นฟูฯ เข้า ครม. ชี้ขัดข้อตกลงที่ผู้บริหารรับปากสหภาพฯ ไว้

นายภิญโญ เรือนเพชร รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) พร้อมคณะประมาณ 60-70 คนได้เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่าน ร.อ.ทวิช ศุภวรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนประสานงานมวลชนและองค์กรประชาชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท.เข้าที่ประชุม ครม.

นายภิญโญ กล่าวว่า ผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ได้ ทำข้อตกลงกับสหภาพฯ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2550 ว่า กรณีจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรของการรถไฟฯผู้บริหารจะต้องทำความ ตกลงกับสหภาพฯก่อน แต่แผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟฯ ที่กระทรวงคมนาคมและผู้บริหารการรถไฟฯ เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 3 มิ.ย. นี้ ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกับสหภาพฯก่อน ซึ่งถือว่า ผิดข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันไว้ ดังนั้น สหภาพฯจึงมายื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอให้ระงับการนำแผนฟื้นฟูฯ เข้า ครม.ออกไปก่อน

นอกจากนั้นแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพการจ้างงานของพนักงาน ร.ฟ.ท. เพราะตามแผนดังกล่าวฯ จะมีการปลดพนักงานออกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งแผนฟื้นฟูฯยังกำหนดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการกิจการบางส่วนนั้น ทำให้เชื่อว่า จะทำให้ภาครัฐและประชาชนเสียประโยชน์ เพราะวัตถุประสงค์ของภาคเอกชน คือ การแสวงหากำไร
“สหภาพฯ เห็นว่าความพยายามในการผลักดันแผนฟื้นฟูฐานะการเงินของ ร.ฟ.ท. เตรียมจะเสนอเข้า ครม.พิจารณานั้น ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ผู้บริหารตกลงกับสหภาพฯ ไว้ และแผนดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในการส่งเสริมการขนส่งระบบราง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของ ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะการตั้งบริษัทลูก จะทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างการรถไฟฯและบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่ขาดจากกันใน อนาคต ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศชาติ ประชาชน และพนักงานในที่สุด" นายภิญโญ ย้ำ

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสหภาพฯเคยเสนอแนวทางแก้ปัญหาของ ร.ฟ.ท. ต่อรัฐบาลมาแล้ว เช่น จัดทำรางคู่ทั่วประเทศ ปรับขนาดรางเป็นขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร การจัดหารถจักร รถโดยสาร รถสินค้าให้เพียงพอ เพิ่มการจัดเก็บรายได้จากที่ดินทั่วประเทศ ให้รัฐบาลจ่ายเงินการบริการทางสังคมให้ตรงเวลา (PSO) ซึ่งเงินในส่วนนี้รัฐบาลค้างจ่ายเงินให้ ร.ฟ.ท. มาตั้งแต่ปี 2545 คิดเป็นวงเงินรวม 2.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ ร.ฟ.ท. ต้องเสียดอกเบี้ยปีละ 2 พันล้านบาท การแก้ปัญหาจุดตัดทั่วประเทศกว่า 3 พันแห่ง เป็นต้น แต่รัฐบาลไม่เคยดำเนินการตามข้อเสนอเลย
****************************************************************
ครม.เห็นชอบรฟท.ปรับโครงสร้างฟื้นฟูการเงิน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 3 มิถุนายน 2552 15:55

ครม.เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อฟื้นฟูฐานะการเงิน สอดคล้องนโยบายรัฐบาลเพิ่มขนส่งทางราง

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ(กนร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบและเห็นชอบหลักการตามที่คณะกรรมการ กนร.เสนอการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มการขนส่งทางราง ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าการขนส่งทางอื่น

แนวทางดังกล่าว ร.ฟ.ท.จะ มีการปรับโครงสร้าง โดยจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา 2 บริษัท คือ บริษัทเดินรถ และ บริษัทบริหารทรัพย์สินแยกจาก รฟท. โดยให้ รฟท.ถือหุ้น 100% และดำเนินการจัดตั้งบริษัททั้ง 2 ภายใน 30 วัน นับแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และให้เริ่มดำเนินการได้ภายใน 180 วัน

ทั้งนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นเพียงผู้จัดหาเอกชนเข้าพัฒนาที่ดินและบริหารสัญญา เท่านั้น ภาครัฐจะรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพิจารณาในการแก้ไขภาระหนี้สิน

โดยใช้รายได้ของ ร.ฟ.ท.และบริษัทลูกที่จะหาได้ในอนาคตจ่ายคืนและดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังช่วยเหลือ รวมถึงการเพิ่มบทบาทให้กับเอกชนในกิจการของ ร.ฟ.ท.

สำหรับผลที่จะได้จากการลงทุนในครั้งนี้ จะทำให้ภายใน 6 ปี จำนวนขบวนรถที่วิ่งบนรางเพิ่มขึ้น 100% ปริมาณในการขนส่งโดยสารเพิ่ม 25% และการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 100% พร้อมทั้งจะมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
*************************************************************
รถไฟหยุดวิ่งทั่วประเทศค้านการแปรรูป

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศหยุดเดินรถทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านการแปรรูปรถไฟ ผู้ว่าฯรฟท.ยัน การแปรูปบริษัท รฟท.ถือหุ้น100%
(22มิ.ย.) นายสาวิต แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานฯ ได้เสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลและรัฐมนตรีคมนาคมหลายครั้ง แต่ไม่มีใครสนใจ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังพยายามที่จะปฎิรูปรถไฟต่อไป โดยสหภาพไม่เห็นด้วย

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว โดยล่าสุดสหภาพฯทั่วประเทศได้ประกาศหยุดงานเพื่อประท้วงรัฐบาล ส่วนจะเปิดเดินรถเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาของรัฐบาลต่อไป

ทางด้านนายยุทธนา ทับเจริญ ผู้ว่าฯรฟท. กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่นโยบายการปฎิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่เป็นการจัดตั้งในรูป บริษัทฯซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจะถือหุ้น 100% ที่ผ่านมาได้เดินสายชี้แจงอย่างต่อเนื่องแล้ว

ส่วนกรณีที่แรงงานรถไฟทั่วประเทศประท้วงหยุดเดินรถนั้น เบื้องต้นทราบว่า เป็นรถไฟดีเซล สายระยะสั้น ซึ่งการรถไฟได้เตรียมแผนทั้งการเจรจากับแรงงานและการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปด้วย
จาก นสพ. คม ชัด ลึก วันที่ 22 มิถุนายน 2552

***********************************************************

http://www.tgocity.com/topics/481-%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F