วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กรรมการสมานฉันท์แก้ปัญหาได้จริง? ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

ในขณะนี้ทางรัฐบาลได้ตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมา โดยกรรมการชุดนี้ มีสัดส่วนจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านส.ว.และนักวิชาการ ซึ่งกรรมการที่ไม่ได้มาจากรัฐบาลคงไม่ตกเป็นเครื่องมือรัฐบาลอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวลกัน

อีกทั้งการให้เวลาทำงานเพียง 45 วัน ถือว่าไม่นาน และอาจน้อยไปด้วยซ้ำ ดังนั้น "เพียงเวลาเท่านี้อาจซื้อเวลาไม่ได้" และทุกคนก็อยากทำให้เสร็จ อย่างไรก็ตาม การใช้เวลาน้อยอาจทำให้ไม่ได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน เพราะการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนเวลาเพียง 45 วัน อาจไม่พอ

ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่าง ๆนั้น เป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขได้ และทุกฝ่ายควรเปิดใจกว้างรับฟัง เพราะหากไม่ฟังอาจทำให้เกิดปัญหาว่า ให้คนไม่รู้เรื่องการเมืองมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุด กระบวนการรัฐสภาต้องตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรกับประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ รวบรวมมา ทั้งนี้ หากเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวนมาก อาจจะเสนอตั้ง "สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใหม่" ก็ได้

ส่วนข้อเสนอให้ทำ "ประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นั้นหากลงประชามติทั้งฉบับไม่น่ามีประโยชน์ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่ละประเด็นย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และที่สำคัญยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำประชามติในขณะนี้ ดังนั้น หากสอบถามเพียงบางประเด็นน่าจะพอรับฟังได้

สำหรับข้อเสนอ "นายกรัฐมนตรีคนนอก" นั้นเป็นสิ่งที่รับฟังได้ เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตย ยังเคยมีประธานาธิบดีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า สนับสนุนให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก เพียงแต่มองว่าควรเปิดช่องสำหรับหาทางออก หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

ทั้งนี้การจะทำให้เกิด "แนวทางสร้างสมานฉันท์" อย่างเป็นรูปธรรมอย่างสมบูรณ์แบบต้องเสนอประเด็นต่อประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นให้เกิดข้อยุติ แต่ถ้าจะให้ดำเนินการเพียงรวบรวมประเด็นแล้วนำเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ไปดำเนินการต่อเวลาเพียงเท่านี้ อาจจะไม่เป็นปัญหา

อย่างไรก็ตามสิ่งที่มองว่าอาจจะเป็น อุปสรรค บ้างจากการทำหน้าที่เป็นกรรมการร่วมกับฝ่ายการเมือง คือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำได้แค่เสนอความเห็น แต่เมื่อมีการโหวตเราที่เป็นเสียงส่วนน้อยก็มักจะแพ้

หรืออาจจะพูดง่ายๆ ว่าฝ่ายการเมืองมีธงชัดเจนอยู่แล้ว การเสนอความเห็นที่แตกต่างออกไปมักจะไม่ได้รับการสนองตอบ