วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผ่าปฏิบัติการ 265 ป.ป.ท. ดูแล 4 ล้านคนปลอดทุจริต เล็งกำหนดตำแหน่ง-ยื่นบัญชีทรัพย์สิน

หน่วยงานใหม่ที่กำกับดูแลป้องกันและปราบปรามการทุจริต นั่นคือ หน้าที่ของ ป.ป.ท. ถ้าจะขยายความกันให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ก็จะรู้ว่า คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ (ป.ป.ท.) คือใคร ( ป.ป.ท.) คือคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2551 หน้าที่หลักของ ป.ป.ท. คือตรวจสอบและปราบปรามการทุจริต ตั้งแต่ ระดับ 8 ลงไปจนถึงระดับท้องถิ่น แต่หน่วยงานที่ตรวจสอบตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปจนถึงนายกรัฐมนตรี คือหน้าที่ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า (ป.ป.ช.)

ซึ่งวันนี้ ป.ป.ท. มีอัตรากำลังเพียง 265 คน และ 1 เลขาธิการที่กำกับดูแล ป.ป.ท. นั่นก็คือ ธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แต่กำลังเพียงน้อยนิดนี้ ที่จะต้องสอดส่องดูแลพนักงานของรัฐกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ ให้ปราศจากการคอร์รัปชั่น


สัมภาษณ์พิเศษจาก “ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ” เลขาธิการคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อดีตอัยการ และรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดี.เอส.ไอ.( D.S.I. )


ป.ป.ท. มีกำลังเพียง 265 คน แต่ต้องกับกำดูแลและตรวจสอบหลาย ๆ องค์กรทั่วประเทศถึง 4 ล้านคน จะเพียงพอหรือไม่ ?

ผมไม่อยากมองว่าเป็นข้อจำกัด หากปริมาณงานมากจนรับไม่ไหวก็คงจะขอ ก.พ. อนุมัติเพิ่มอัตราไว้เพื่อรับมือ แต่ถ้าเราทำงานแบบบูรณาการได้ เราจะบูรณาการกับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม

แต่กฎหมายฉบับนี้ได้เปิดความสำคัญคือ การสนธิกำลังหรือการบูรณาการ เช่น สมมุติว่าเกิดเรื่องร้องเรียน หรือจากการตรวจสอบพบการทุจริตที่ในพื้นที่หนึ่ง เราก็จะส่งกำลังไป 1 – 2 คน เพื่อเข้าไปประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้ชัดเจน เช่น อัยการ

จังหวัด ซึ่งคนของ ป.ป.ท. จะรับผิดชอบในการทำสำนวน เป็นเลขานุการ และทำงานภายใต้องคาพยพ กฎหมายให้ทำงานในลักษณะนี้เพื่อให้เกิดบูรณาการ จะเกิดสหวิชาชีพ และวิ่งต้นล้มคดีได้ยาก

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดบทบาทของตัวแทนประชาชน เข้ามาร่วมในการไต่สวนป้องกันการทุจริต และมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งการทำงานของ ป.ป.ท. จะคล้ายกับ ป.ป.ช. เพราะต้องการให้ระบบการตรวจสอบ และพิจารณาโทษอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่ง ป.ป.ช. ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ โดยมีการไต่สวน ส่วน ป.ป.ท. ก็ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการรวม 7 คน มีเลขาธิการเป็นเลขานุการ แต่กฎหมาย ป.ป.ท.เปิดกว้างมากกว่า โดยให้ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และตั้งผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษา สนธิกำลังกันได้มากยิ่งขึ้น จุดนี้คือจุดที่เราใช้แก้ปัญหาจุดอ่อนของ ป.ป.ช. ซึ่งในอดีตกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องลงไปไต่สวนเองซึ่งข้อนี้เองที่ทำไม่ไหว แต่กฎหมายฉบับนี้ได้ยึดหยุ่น

หน่วยงานใดบ้างที่อยู่ภายใต้กฎหมายของ ป.ป.ท. ?
องค์กรของภาครัฐ ทั้งข้าราชพลเรือน ทหาร ตำรวจ ครู และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งหมดกว่า 40 แห่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ข้าราชองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. , อบจ. ที่มี 9,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งกองทุนหมู่บ้าน กองทุนช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกร อีกทั้งหน่วยงานพิเศษ เช่น องค์การมหาชน

จำนวนคดีที่ได้รับโอนจาก ป.ป.ช. มีมากเท่าไร ?
คดีจะมี 2 ส่วนก็คือ คดีที่โอนมาจาก ป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมการที่จะโอนมาจาก ป.ป.ช. คาดว่ามีจะคดีที่โอนมาจำนวนกว่า 4,000 คดี และคดีที่มีอยู่ในมือของ ป.ป.ท. ซึ่งมาจากการร้องเรียนและที่เราลงไปสอบสวนเองอีกประมาณ 1,000 - 2,000 คดีเศษ รวมทั้งหมดแล้วน่าจะประมาณ 5,000 - 6,000 คดี

ส่วนการจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ที่คนน้อยแต่มีคดีเยอะ และเวลาจำกัด ?
เทคนิคก็คือ คดีที่จะขาดอายุความ อันนี้จะต้องมาอันดับแรกเลย ต่อมาก็จะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสังคมหรือประชาชนอย่างมาก เช่น ข้าราชการทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ลักษณะนี้จะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการทำคดี

ป.ป.ท. กำหนดให้เจ้าหน้ารัฐ ต้องเปิดเผยบัญชีมากน้อยแค่ไหน ?
เบื้องต้น ผมจะดูประโยชน์และความเหมาะสมของงานกับการให้คุณและโทษเป็นหลัก ซึ่งข้อนี้คงจะต้องระดมความคิดเห็น ต้องรอบคอบ คนมีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทั้งประชาชน และให้สื่อมาช่วยคิดด้วยเพื่อให้เกิดความคิดที่ดีไว้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป เช่น ตำรวจ เจ้าหน้ากรมสรรพกร ฯลฯ ใครทำหน้าที่อย่างไรควรกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนขึ้น แม้จะเป็นระดับผู้น้อย ก็อาจจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย และเสนอบอร์ดเพื่อพิจารณาต่อไป

ป.ป.ท. ไม่ใช่องค์กรอิสระ การเมืองอาจเข้ามาแทรกแซงได้ ?
โดยระบบแล้ว ในฐานะที่ผมเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. ผมสั่งยุติคดีไม่ได้ เพราะเราต้องทำงานในรูปของคณะกรรมการ เ ราออกแบบไว้เหมือนกับ ป.ป.ช. ซึ่งมีระบบไต่สวน และมีระบบการทำงานที่คล้ายคลึงกันมาก แต่มีความยึดหยุ่นมากกว่า และในฐานะที่ผมเป็นกรรมาธิการด้วยก็มีความคาดหวังสูงมากเพื่อที่จะทำงานให้ สัมฤทธิ์ผลตามกติกาที่ดี ซึ่งมีประชาชนได้มีส่วนร่วม

องค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศ กว่า 9,000 กว่าแห่ง จะดูแลได้ทั่วถึงอย่างไร ?
สิ่งแรกที่ผมคิดคือ งานป้องกันจะต้องมาก่อน เราต้องทำความเข้าใจเพื่อช่วยกันปลุกพลังความคิด โดยเฉพาะผู้นำในองค์กรท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ ฝ่ายทางการเมืองก็คือ นายก อบจ., นายก อบต. รวมถึงข้าราชการประจำก็คือ ปลัด อบต. และเทศบาลทั่วประเทศทั้ง 9,000 กว่าแห่ง เพื่อขอความร่วมมือกันและต้องช่วยกันกำกับดูแล และที่สำคัญมากอีกอย่างก็คือ เราต้องอาศัยสื่อสารมวลชนเพื่อช่วยในการเผยแพร่ข่าวสารและประชาสัมพันธ์ว่า “ การปราบปรามการทุจริต คือภารกิจของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกัน จึงจะสัมฤทธิผลได้ ” แต่วันนี้การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่ได้เกิดขึ้นจากหน่วยงานของ ป.ป.ท. เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความร่วมมือของทุกภาคส่วนจึงสำเร็จได้

ในวาระการดำรงตำแหน่งของท่าน จะทำภารกิจได้มากน้อยเพียงใด ?
โดยครบเทอมแล้วก็ 4 ปี ต่อได้อีกปีต่อปี เต็มที่ก็ 5 – 6 ปี ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่ที่ผมคิดไว้ก็คือ ผมจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด