วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนกว่า 40 ฉบับ

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอกรอบข้อตกลงที่จะไปลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำอา เซียนทั้งหมด 10 เรื่อง ให้กับสภาฯ พิจารณา เชื่อว่าสภาฯ จะผ่านการอนุมัติร่างข้อตกลงทั้งหมด เพื่อให้ไทยสามารถลงนามร่วมกับประเทศอาเซียนได้ เพราะหากไทยไม่สามารถลงนามได้ จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของไทย เนื่องจากไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

“กระทรวงฯ ได้ชี้แจงให้สภาฯ รับทราบถึงการไปจัดทำข้อตกลง ส่วนใหญ่ถามว่าไทยจะเสียเปรียบมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ จะมีทางเยียวยาอย่างไร” นายอลงกรณ์ กล่าว รมช.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า หากจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่างข้อตกลง จะทำให้ไทยล่าช้าและไม่สามารถลงนามทันการประชุมได้

สำหรับกรอบข้อตกลงทั้ง 10 เรื่อง 23 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ ข้อตกลงเอฟทีเออาเซียนเกาหลี (ในส่วนของไทย) เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เอฟทีเออาเซียน-จีน (ในส่วนการลงทุน) บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและอินโดนีเซียเรื่องน้ำตาล และข้อตกลงยอมรับร่วมด้านอาชีพ เช่น วิศวกรรม แพทย์

ทางด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอกรอบข้อตกลงว่าด้วยความมั่นคงปิโตรเลียม ซึ่งมีการแก้ไขกรอบข้อตกลงเดิมในประเด็นกรณีการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินกับ ประเทศสมาชิกที่ประสบกับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมัน จากเดิมกำหนดไว้ว่า ประเทศสมาชิกจะสามารถขอความช่วยเหลือจากประเทศผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าน้ำมันได้ จะต้องมีปริมาณน้ำมันที่ขาดแคลนในสัดส่วน 20% จากปริมาณน้ำมันปกติในประเทศ โดยจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นเหลือ 10% เท่านั้น
ทั้งนี้ หากใช้เงื่อนไขเดิมจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประเมินว่า หากน้ำมันในประเทศหายไป 20% ถือเป็นปัญหาร้ายแรงมากจนอาจถึงขั้นล่ม เพราะปัจจุบันหากขาดแคลนน้ำมันไปเพียง 1-2 วัน จะส่งผลกระทบต่อประเทศ ดังนั้นหากลดสัดส่วนลงมา 10% น่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสมที่สุด

อย่าง ไรก็ตาม ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับไทยคือ เป็นการหาเครื่องมือรองรับกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมัน โดยอาจขอความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกที่มีแหล่งน้ำมัน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันมีความผันผวน ประกอบกับมีปัจจัยทางด้านต่างประเทศที่อาจทำให้เกิดปัญหากับผู้ผลิตน้ำมัน รายใหญ่ในโลกได้ แต่หากกรอบข้อตกลงนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ก็จะทำให้เสียโอกาสกับการมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลน น้ำมันในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แม้จะมีแหล่งปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ก็ตาม ขณะที่นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะคณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การเจรจาอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ไม่มีผลกระทบในเชิงลบกับภาคเกษตรของไทย มีแต่ประโยชน์ โดยสาระสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ ไทยจะเสนอตัวให้เป็นที่ตั้งขององค์กรสำรองข้าว ตามโครงการสำรองข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยด้านอาหาร สำหรับภูมิภาคในกรณีเกิดภัยพิบัติหรืออดอยาก ซึ่งการตั้งองค์กรดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจรจาในการประชุมที่เชียงใหม่ใน ระดับรัฐมนตรีอาเซียนเมื่อปี 2551 ซึ่ง ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวมากที่สุด มีความเหมาะสมในการเป็นที่ตั้งองค์กรดังกล่าว ส่วนงบประมาณในการดำเนินการจะมาจากการเก็บค่าสมาชิกของแต่ละประเทศตามความ สามารถของแต่ละประเทศ ร่วมทั้งเงินบริจาคจากองค์กรโลก เช่น เอฟเอโอ หรือยูเอ็น สำหรับหน้าที่ขององค์กรคือ เมื่อเกิดวิกฤตหน่วยงานนี้จะเข้ามาดูแลในด้านการจัดหาข้าวจำหน่ายในราคาถูก หรือแจกฟรี หรือจำหน่ายโดยการสินเชื่อระยะยาว ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของอาเซียน เพราะช่วยกันมาตลอด แต่เนื่องจากเมื่อมีวิกฤตอาหารเกิดขึ้น ที่ประชุมอาเซียนก็เห็นว่า ควรจะมีการนำเรื่องทั้งหมดมาจัดระบบกันใหม่ นอกจากนี้ จะมีการร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร จะส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้มาก การส่งเสริมการวิจัย การพัฒนานวัตกรรมใหม่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตอาหาร หรือการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ไม่ได้ทำจากข้าว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มีผลผูกพันงบประมาณหรือผูกพันให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายด้าน การเกษตรแต่อย่างใด \
http://www.siam2you.com/index.php?option=com_fireboard&Itemid=57&func=view&id=775&catid=18