วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ปฐมบท การปฏิรูปใหญ่ ครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2545 )

การปฏิรูประบบราชการในประวัติศาสตร์ไทย มีการปฏิรูประบบราชการครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อสร้างการบริหารของกรุงศรีอยุธยาให้มีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นฝ่ายทหาร (กลาโหม) และฝ่ายพลเรือน (จตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา)

อีก 400 ปีต่อมา ได้มีการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 2 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2435 เป็นความพยายามที่จะสร้างความทันสมัย โดยได้เปลี่ยนระบบจตุสดมภ์ มาเป็นกระทรวงหลักทั้งหมด 12 กระทรวงแบบตะวันตก สำหรับการปฏิรูประบบราชการครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปหลังจาก 100 ปี ล่วงมาแล้ว
ทำไมจึงต้องปฏิรูประบบราชการ

ปัจจุบันโครงสร้างของหน่วยราชการหลายแห่งมีบทบาทภารกิจที่ซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย ขาดเอกภาพ และสิ้นเปลือง ส่งผลกระทบต่อการบริหารบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศ ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่กลไกภาครัฐโดยรวมยังคงล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานตามนโยบายแห่งรัฐ และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข็มแข็งให้แก่ชุมชน อีกทั้งระบบราชการไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของประชาชนผู้รับบริการได้ทันท่วงที

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการยกระดับขีดความสามารถของราชการไทยให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและแก้ปัญหาการขาดประสิทธิภาพ ความซ้ำซ้อน การทุจริตประพฤติมิชอบ และขาดความโปร่งใส
รัฐบาลที่ผ่านมาต่างมีความพยายามที่จะปฏิรูประบบราชการแต่จังหวะและโอกาสที่จะกระทำมีความลำบาก เนื่องจากขาดสภาวะการนำ และทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยเท่ากับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ประชาชนให้การยอมรับให้มีเสียงข้างมาก จึงสมารถดำเนินการได้ตั้งแต่รัฐบาล และการปฏิรูปนี้ถือเป็น วาระแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นงานหลักของรัฐบาล โดยต้องอาศัยนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนทุกฝ่าย รัฐบาลดำเนินการในขั้นแรกด้วยการออกกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และขั้นต่อ ๆ ไป รัฐบาลจะปรับปรุงเรื่องระบบราชการการบริหารงานบุคคลวิธีการงบประมาณ และการกระจายอำนาจ
มีกระทรวงใหม่ที่เกิดขึ้นตามภารกิจอย่างไร

มีจำนวนกระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง ใช้ชื่อเดิม 11 กระทรวง มีกระทรวงที่ปรับภารกิจและเปลี่ยนชื่อกระทรวง 3 กระทรวง และจัดตั้งกระทรวงขึ้นใหม่ 6 กระทรวง มีกรมรวมทั้งหมด 127 กรมดังนี้

( ใช้ชื่อเดิม )
-สำนักนายกรัฐมนตรี
-กระทรวงกลาโหม
-กระทรวงการคลัง
-กระทรวงการต่างประเทศ
-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-กระทรวงคมนาคม
-กระทรวงพาณิชย์
-กระทรวงมหาดไทย
-กระทรวงยุติธรรม
-กระทรวงศึกษาธิการ
-กระทรวงสาธารณสุข

( ปรับภารกิจและเปลี่ยนชื่อ )
-กระทรวงแรงงานและพัฒนาอาชีพ
-กระทรงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ

( กระทรวงใหม่ )
-กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-กระทรวงพลังงาน
-กระทรวงวัฒนธรรม
-กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทำไม จึงต้องเพิ่มกระทรวง ทบวง กรม มากขึ้นกว่าเดิม
การจัดโครงสร้างกระทรวงใหม่ในครั้งนี้ จะมีกระทรวงเพิ่มขึ้น เพราะบางกระทรวงมีความจำเป็น และมีภารกิจที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และแม้ว่าจะเป็นกระทรวงเล็กแต่กลับมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ภารกิจบางอย่างมีความจำเป็นต้องได้รับการบริการและจัดการด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก โดยมีเหตุของการจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ดังนี้
- เนื่องจากมีภารกิจใหม่
- ตัดลดสายการบังคับบัญชาลง
- เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านงานบุคลากร
- เพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งข้าราชการระดับสูงหรือไม่

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีจะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รวมกันเป็น 36 คน ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีเกินจำนวนดังกล่าวได้ ในส่วนข้าราชการนั้นจะใช้วิธีการเกลี่ยตำแหน่ง

ข้าราชการจะได้รับผลกระทบต้องออกจากราชการหรือไม่
รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปลดหรือใช้ข้าราชการออกจากงานในยามเศรษฐกิจของประเทศยังไม่เฟื่องฟู หากปลดข้าราชการจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะการลดคนออกจากงานนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด จะกระทำได้ต่อเศรษฐกิจขงประเทศดีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสข้าราชการสามารถประกอบอาชีพอื่น ๆ ตามที่ตนต้องการ มีรายได้สูง และได้รับบำเหน็จบำนาญตามความเหมาะสม นอกจากนี้รัฐบาลไม่ต้องการใช้ข้าราชการออกจากงาน เพราะถือว่าข้าราชการเป็นผู้เสียสละมารับเงินเดือนน้อย จึงควรมีความมั่นคงในอาชีพ

รัฐบาลจะมีการเกลี่ยตำแหน่งข้าราชการ เพื่อจัดวางคนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ใหม่ (reassign) พัฒนาใหม่ (retrain) ฟื้นฟูใหม่ (rehabilitation) ผ่านศูนย์เปลี่ยนผ่าน และเมื่อมีข้าราชการใดเกษียณอายุราชการ ก็จะนำข้าราชการเหล่านั้นไปปฏิบัติงานแทน จะทำให้ข้าราชการลดน้อยไปเองโดยอัตโนมัติ

ประชาชนได้อะไรจากการปฏิรูปราชการ (ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากากการปฏิรูปราชการดังนี้)
- การให้บริการสาธารณะด้านต่างๆ ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นการบริการประชาชนจะดีขึ้น เร็วขึ้น ประหยัด ไม่มีสายการบังคับบัญชาที่สลับซับซ้อน
- ปรับปรุงบทบาทของภาครัฐจากผู้ปฏิบัติและควบคุมมาเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าที่จะเป็นการสั่งการจากราชการ
- ระบบราชการใหม่ จะเร่งพัฒนาคุณภาพของข้าราชการให้มีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการประชาชนและมีการบริหารงานที่มีความยืดหยุ่น โปร่งใส ตรวจสอบได้
- จะมีการปรับระบบการให้บริการประชาชนในส่วนภูมิภาคโดยมีการถ่ายโอนภารกิจ พร้อมทั้งมีหน่วยงานให้บริการตามความต้องการของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ โดยรวมหน่วยงานให้บริการไว้ในจุดเดียว (One Stop Service)

การปฏิรูประบบราชการใช้เวลาเท่าไรจึงจะเสร็จสิ้น
การปฏิรูประบบราชการ ให้ได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลได้ดำเนินการโดยแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้
ช่วงการเตรียมการ (ก่อน 1 ตุลาคม 2545) โดยมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนแปลง เตรียมการรองรับการถ่ายโอนบุคลากรและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน

ช่วงการริเริ่มปรับโครงสร้างและระบบการบริหารราชการ (1 ตุลาคม 2545 - 30 กันยายน 2547) จะมีการสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กระทรวง ทบวง กรม สร้างกลไก ให้มีผู้รับผิดชอบงานพัฒนา ถ่ายโอน และเตรียมความพร้อมกำลังคนรวมทั้งปฏิรูประบบงบประมาณ
ช่วงก้าวสู่ระบบราชการแนวใหม่ ( 1 ตุลาคม 2547 – 30 กันยายน 2551) ระบบราชการทั้งหมดจะก้าวสู่กระบวนการทำงานในระบบใหม่ มีการบริหารงานแนวใหม่ จากประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศการปฏิรูประบบราชการจะสำเร็จผลชัดเจนเป็นรูปธรรมได้นั้น จะต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง โดยต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะ ๆ ให้เหมาะสมกับความจำเป็น และที่สำคัญที่สุดก็คือ อยู่ที่ความร่วมมือของทุกฝ่าย

http://irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/General/Taksin%20rehab.htm


สรุปสาระสำคัญ พรบ.ข้าราชการพลเรือน 2551 หลังประกาศใช้
สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีหลักการสำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

(1) การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ
ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับ ส่วนราชการและจังหวัดรับไปดำเนินการเอง โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ส่วนราชการสามารถกำหนด จำนวนข้าราชการ ประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับของข้าราชการได้เอง โดยต้องคำนึงถึง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความไม่ซ้ำซ้อน และความประหยัด เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของการบริหารรัฐกิจ สมัยใหม่ (New Public Management) ที่เน้นหลักการให้ผู้บริหารมีอำนาจ ในการบริหารอย่างแท้จริง และผู้บริหารควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว ของภารกิจ ขององค์กร ทั้งนี้ ก.พ. จะกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เป็นกรอบกว้าง ๆ ไว้ให้ และจะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการ (Post Audit) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่วางไว้

(2) การปรับโครงสร้างระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน
การปรับโครงสร้างตำแหน่งของข้าราชการ หรือการยกเลิกระบบ “ซี” และจัดแบ่งประเภทตำแหน่ง เป็น 4 ประเภทให้สอดคล้องกับลักษณะงานในปัจจุบัน ได้แก่ ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภท อำนวยการ ตำแหน่งประเภทวิชาการ และตำแหน่งประเภททั่วไป ภายใต้แนวคิดที่จะทำให้ระบบจำแนกตำแหน่ง เป็นระบบ Multi Classification Scheme โดยแบ่งประเภทตำแหน่งออกเป็นหลายประเภท เพื่อแยกบัญชีเงินเดือนแต่ละประเภทออกจากกัน ทำให้เกิดความยืดหยุ่น ในการปรับอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับตลาดและการบริหารผลงาน การจ่ายค่าตอบแทนตามความรู้ความสามารถของข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งสะท้อนค่างานของตำแหน่งในแต่ละประเภทได้อย่างแท้จริง โดยสามารถเทียบเคียงตำแหน่งในปัจจุบันกับการเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ สำหรับการเลื่อนระดับตำแหน่งหรือการย้ายเปลี่ยนกลุ่มประเภทตำแหน่งจะต้องพิจารณาจากเกณฑ์ระดับความรู้/ทักษะ/ระดับสมรรถนะ/ประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งโดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

(3) สร้างความเป็นมืออาชีพ
กำหนดให้ทุกกระบวนการของการบริหารทรัพยากรบุคคล จะดำเนินการโดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถเป็นสำคัญ เพื่อให้ข้าราชการมีคุณภาพ คุณธรรม คุณภาพชีวิต มีขวัญและ กำลังใจในการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของภาครัฐ และเน้นให้ข้าราชการเป็น “ผู้ปฏิบัติงานที่ทรงความรู้” หรือ Knowledge Worker โดยมีระบบตำแหน่งมารองรับ กล่าวคือ ข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ สามารถเติบโตก้าวหน้าได้โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดเรื่องตำแหน่ง ซึ่งเป็นไป ตามหลักสากล รวมทั้ง เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิต เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการ สร้างขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติงาน และช่วยให้ข้าราชการ ดำรงชีวิต อย่าง มีความสุข และปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาการมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายตาม ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะที่เงินเดือนและค่าตอบแทนเพิ่มไม่ทันกับค่าครองชีพ

(4) สร้างความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการ
กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. เพื่อทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของข้าราชการ โดยแยกบทบาท ภารกิจและหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. ที่แต่เดิมทำหน้าที่รักษาการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และการพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษข้าราชการ ออกจากกัน ช่วยสร้างสมดุลทางการบริหารทรัพยากรบุคคล และดูแลรักษาระบบคุณธรรมให้แก่ข้าราชการ ในภาพรวมเป็นองค์การที่มีอำนาจอิสระ ไม่อยู่ในกำกับจากฝ่ายบริหาร สร้างสมดุลในการบริหารเพื่อรับกับการกระจายอำนาจ ในการจัดการทรัพยากรบุคคล และช่วยให้ข้าราชการได้รับการดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบคุณธรรมที่เป็นหลักการสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลของราชการ


http://www.bbznet.com/scripts/view.php?user=thailocalhr&board=2&id=5&c=1&order=numtopic